ปราสาทนครหลวง
ปราสาทพระนครหลวง* เมื่อสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท ตามใบบอกเมืองสระบุรี ในปี พ.ศ. ๒๑๔๙ นั้น ได้เสด็จฯ โดยชลมารคตามลำน้ำป่าสักถึงท่าเรือ แล้วจึงเสด็จฯ ต่อไปโดยขบวนช้าง มีพรานบุญผู้พบรอยพระพุทธบาทเป็นผู้นำทาง ก่อนเสด็จฯ กลับได้โปรดให้ฝรั่งส่องกล้องตัดถนนจากรอยพระพุทธบาทมาจนถึงท่าเรือ ครั้นเสด็จฯ กลับมาตามสถลมารคที่สร้างใหม่ถึงท่าเรือแล้วจึงโปรดให้สร้างตำหนักริมน้ำขึ้น ให้ชื่อว่า พระตำหนักท่าเจ้าสนุก[๑]
ข่าวการพบรอยพระพุทธบาท ณ แขวงเมืองสระบุรี ในขณะนั้น นับเป็นมงคลนำความชื่นชมโสมนัสมาสู่ราชสำนักและพสกนิกรโดยถ้วนทั่ว พระมหากษัตริย์ในรัชกาลต่อๆ มา ทรงถือว่า การเสด็จนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เป็นพระราชกรณียกิจที่จำเป็น และสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งที่พึงปฏิบัติ และเส้นทางขบวนเสด็จนั้นมักจะเสด็จฯ โดยชลมารค โดยเริ่มจากท่าเทียบเรือพระราชวังหลวง (ท่าวาสุกรี) ไปจนถึงท่าเจ้าสนุก แล้วจึงเสด็จฯต่อโดยสถลมารค แม่น้ำป่าสักจึงเป็นเส้นทางสัญจรทางน้ำที่สำคัญยิ่งเส้นทางหนึ่งนับแต่การค้นพบรอยพระพุทธบาท ความงดงามแปลกตาของลำน้ำและภูมิประเทศสองฟากฝั่งได้ก่อให้เกิดจินตนาการแก่กวีผู้เดินทางผ่านคนแล้วคนเล่า นับแต่ยุคเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ ในสมัยอยุธยาจนถึงสมัยสุนทรภู่ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างทางรถไฟสายพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ นักเดินทางจึงเปลี่ยนไปเดินทางทางรถไฟ
ขบวนพยุหยาตราชลมารคเพื่อนมัสการพระพุทธบาทในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมนั้น จะหยุดพักผ่อนไพร่พลและเสวยพระกระยาหารกลางวันตรงใกล้บริเวณลำน้ำป่าสักและแม่น้ำลพบุรี มาบรรจบกันเป็นทางน้ำสามแพรกบริเวณวัดใหม่ประชุมพล อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงบ่ายหายเหน็ดเหนื่อยแล้ว ขบวนจึงจะเคลื่อนต่อไปตามลำน้ำป่าสักจนถึงท่าเจ้าสนุกแล้วหยุดประทับแรม ต่อวันรุ่งขึ้นขบวนจึงจะเคลื่อนไปโดยสถลมารค
ครั้นถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองไม่โปรดที่จะหยุดการเดินทางในช่วงแรกที่วัดใหม่ประชุมพล แต่จะหยุดประทับที่บริเวณริมน้ำใกล้วัดเทพจันทร์ ถัดจากวัดใหม่ประชุมพลลงมาเล็กน้อย จนถึงปี พ.ศ. ๒๑๗๔ จึงโปรดให้ช่างไปถ่ายแบบปราสาทนครหลวงในเขมร มาสร้างขึ้นไว้ในบริเวณสถานที่แห่งนี้ แล้วให้ชื่อ “พระนครหลวง” ตามชื่อเดิม
โบราณสถานปราสาทนครหลวง จึงแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ
- ตัวปราสาทพระนครหลวง และ
- ร่องรอยพระตำหนักที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
ปราสาทพระนครหลวง เป็นอาคารก่ออิฐสี่เหลี่ยมซ้อนกัน ๓ ชั้น ชั้นแรกมีขนาด ๘๑ x ๙๔ เมตร สูงจากพื้นเดิน ๔ เมตร ชั้นที่สองขนาด ๖๗ x ๗๕ เมตร สูงจากพื้นชั้นแรก ๔ เมตร เช่นเดียวกัน ชั้นที่สามขนาด ๔๖ x ๔๘ เมตร สูงจากพื้นชั้นที่สูง ๓.๕๐ เมตร จากการขุดแต่งเพื่อการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ พบว่าแกนในของฐานแต่ละชั้นก่อด้วยดินอัดแน่นจนถึงพื้นแล้วก่ออิฐเป็นเอ็นยึดขนาดกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สานกันเป็นแฉกทั่วพื้นที่ตรงมุมและทิศทั้ง ๔ ที่ระเบียงคดทุกชั้นทำเป็นปรางค์[๒] บริวารชั้นแรกมี ๑๐ องค์ ชั้นที่สอง ๑๒ องค์ และชั้นที่สาม ๘ องค์ รวมทั้งสิ้น ๓๐ องค์ ลักษณะปรางค์แต่ละองค์มีแบบแปลนแผนผังเหมือนๆ กัน คือ เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด ๘.๔๐ เมตร ย่อมุมไม้ยี่สิบ ก่อเป็นฐานเขียง ๒ ชั้น แล้วขึ้นฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่รองรับเชิงบาตรและตัวเรือนธาตุตามลำดับ ส่วนยอดทำเป็นชั้น ๕ ชั้น ภายในองค์ปรางค์ประดิษฐานพระพุทธรูปปรางค์ละ ๒ องค์ ยกเว้นปรางค์หมายเลข ๗, ๑๘ และ ๒๖ ที่ต้องใช้เป็นเนื้อที่ของประตู
ระเบียงคด อาคารเชื่อมต่อระหว่างปรางค์ของแต่ละชั้นก่อผนังด้านนอกตัน แต่ทำช่องหน้าต่างปลอมเลียนแบบช่องลูกมะหวดคล้ายศิลปะสถาปัตยกรรมที่นิยมทำกันในเขมร สมัยนครวัด ช่วงฐานก่อล้อกับการขึ้นรูปของฐานปรางค์ คือ ทำเป็นฐานเขียง ๒ ชั้น แล้วขึ้นฐานลูกแก้วอกไก่ ส่วนผนังด้านในก่อโปร่งทำเป็นเสาสี่เหลี่ยมปาดมุม ปลายเสาเป็นบัวหงาย มีหน้ากระดานรองรับระหว่างช่วงเสาก่อกำแพงหลังเจียดเตี้ยๆ โดยตลอด หลังคาทรงจั่วมุงกระเบื้องดินเผาแบบลอนโค้ง ด้านนอกลด ๒ ตับ ด้านในลด ๓ ตับ ภายในระเบียงมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งหันพระพักตร์สู่องค์ปรางค์ประธานทุกด้านทุกชั้น
ประตูทางเข้าขึ้นบนปราสาท ชั้นแรกมี ๙ ประตู ชั้นที่สอง ๑๒ ประตู และชั้นบน อีก ๙ ประตู รวมทั้งสิ้น ๓๐ ประตู
ท่อระบายน้ำ ทำเป็นช่องสามเหลี่ยมสำหรับน้ำไหลลงพื้นข้างล่าง รวม ๔๐ จุด
มีหลักฐานอยู่หลายประการ เช่น การฉาบปูนที่ผนังปรางค์และระเบียงเพียงการรองพื้นบางๆ ยังไม่ได้ตบแต่งฉาบผิวบันไดทางขึ้นบางแห่งยังไม่ได้ก่อ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๔๒๑ ทรงพระราชนิพนธ์ถึงปราสาทแห่งนี้ว่า “…คงสร้างไม่แล้วเสร็จเป็นแน่ จนบันไดก็ได้ก่อบ้างไม่ได้ก่อบ้างเป็นแต่ชักอิฐไว้ ตัวปรางค์กลางนั้น เห็นจะยังไม่ได้ก่อขึ้นเป็นแน่…”[๓] ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้เป็นหลักฐานที่เชื่อได้ว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างปราสาทนครหลวงไม่แล้วเสร็จ
พระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองแวะประทับสำราญพระราชอิริยาบถ เวลาเสด็จโดยขบวนพยุหยาตราชลมารคเมื่อถึงเทศกาลนบพระพุทธบาทนั้น ปัจจุบันคือสถานที่บริเวณศาลาพระจันทร์ลอยซึ่งตั้งอยู่ถัดท่าน้ำเข้าไปเพียงเล็กน้อย จากงานขุดแต่งขุดค้นสถานที่แห่งนี้พบว่า อาคารจัตุรุมุขได้สร้างทับซ้อนลงบนอาคารพื้นปูอิฐ[๔] หลังคามุงกระเบื้อง ซึ่งน่าเชื่อถือว่าเป็นศาลาโถงที่ประทับชั่วคราวของขบวนเสด็จพยุหยาตราของพระเจ้าปราสาททอง
การซ่อมแปลงปราสาทพระนครหลวง
๑. แม้ปราสาทหลังนี้จะยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง แต่ไม่ปรากฏร่องรอยการแต่งเติมเสริมต่อใดๆ จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ถึงปี พ.ศ. ๒๓๕๒ นายปิ่นหรือตาปะขาวปิ่นได้สร้างพระพุทธบาทสี่รอยและอุโบสถเพิ่มเติมขื้นบริเวณลานชั้นบน พร้อมทั้งขอยกสถานที่นี้ขึ้นเป็นวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๗๕ ชาวบ้านเรียกวัดนี้กันสั้นๆ ว่า วัดนคร พระพิทักษ์เทพธานี (ด้วง ณ ป้อมเพชร) ปลัดกรุงเก่าเล่าว่า “พระชื่อปิ่นออกไปเมืองพม่า ได้เห็นแบบอย่างพระบาทสี่รอย จึงกลับมาเรี่ยไรราษฎรทำขึ้น”
การบูชาพระพุทธบาทสี่รอยเป็นคตินิยมของชาวพุทธฝ่ายหินยาน ซึ่งแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรสุโขทัยและอาณาจักรพุกามในสหภาพพม่า พระพุทธบาทสี่รอยเป็นสัญลักษณ์ให้รำลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้ว ๔ พระองค์ คือ พระกกุกสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป แลพระสมณโคดม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ ไปถวายผ้ากฐินที่วัดนี้และมีพระราชดำริจะสร้างปราสาทพระนครหลวงให้แล้วเสร็จ แต่ทรงรังเกียจว่ามีอุโบสถที่ครอบพระพุทธบาทสี่รอยไว้ภายใน อยู่บนลานชั้นบน จะรื้อเสียก็ไม่ควร จึงไม่ได้ปฏิสังขรณ์ต่อ[๕]
๒. การบูรณซ่อมแปลงปราสาทพระนครหลวงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การซ่อมแซมเปลี่ยนแปลงปราสาทพระนครหลวง ครั้งสำคัญคือ การซ่อมโดยรื้อของเก่าออกแล้วสร้างของใหม่แทน โดยพระปลัดปลื้ม[๖] วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส และผู้มีศรัทธาอีกจำนวนหนึ่ง พระปลัดปลื้มได้ขออนุญาตกระทรวงธรรมการรื้ออุโบสถที่ประดิษฐานพระพุทธบาทสี่รอยออกแล้วสร้างใหม่เป็นมณฑปจัตุรมุข แก้พระปรางค์ทิศเป็นทรงมณฑป และซ่อมแซมปฏิสังขรณ์สิ่งชำรุดอื่นอีกหลายประการ การซ่อมแซมครั้งนั้นผู้ซ่อมมุ่งผลประโยชน์การใช้สอยในขณะนั้นเป็นหลักสำคัญ ไม่ได้คำนึงถึงแบบแปลนแผนผังเดิม ผลที่ปรากฏจึงเป็นภาพความขัดแย้งระหว่างของเก่าของใหม่ที่มองเห็นอยู่โดยทั่วไปตั้งแต่รูปแบบราวบันไดไปจนถึงส่วนยอด
นอกจากปราสาทแล้ว พระปลัดปลื้มได้สร้างศาลาพระจันทร์ลอย เป็นอาคารทรงจัตุรมุขลงบนสถานที่ที่เชื่อว่า เดิม คือ พระตำหนักนครหลวงของพระเจ้าปราสาททอง ศาลาหลังนี้สร้างขึ้นประดิษฐานพระจันทร์ลอย (แผ่นหินรูปกลมคล้ายเสมาธรรมจักร แกะจากหินแกรนิต ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒.๓๕ เมตร หนา ๒๐ เซนติเมตร ด้านหน้าตอนบน แกะสลักพระพุทธรูปนูนต่ำ ขนาดเล็กจำนวน ๓ องค์ และเจดีย์ด้านข้างพระพุทธรูปอีกด้านละองค์ ด้านล่างแกะลาย ตรงกลางลายทำเป็นรูปภาพต่างๆ ที่พอมองเห็นได้ชัดคือรูปปลา ๒ ตัว นอกนั้นค่อนข้างลบเลือนมองไม่ชัด)
ชาวบ้านเล่าขานกันว่าแผ่นหินพระจันทร์ลอยนี้ เดิมทีลอยน้ำมาตามแควป่าสัก มีผู้พบเห็นครั้งแรกที่บ้านศิลาลอย ตำบลศาลาลอย อำเภอท่าเรือ ประชาชนในท้องถิ่นนั้นได้พยายามนำขึ้นจากน้ำแต่ไม่สามารถฉุดขึ้นได้ แผ่นหินจึงลอยน้ำเรื่อยมาจนถึงวัดเทพจันทร์[๗] ชาวบ้านก็ได้ช่วยกันลงไปฉุดเพื่อจะนำไปไว้ที่วัด แต่ก็ทำไม่สำเร็จไม่สามารถฉุดขึ้นมาได้เช่นเดียวกับชาวบ้านศิลาลอย สมภารวัดเทพจันทร์ผู้เรืองวิชามีอาคมในย่านนั้นรู้เรื่องเข้าจึงนำด้ายสายสิญจน์ ๓ เส้น ลงไปคล้องแล้วฉุดขึ้นไปไว้ที่วัดได้โดยง่ายดาย พระจันทร์ลอยจึงได้ประดิษฐานที่วัดนี้อยู่ชั่วระยะหนึ่งจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กระทรวงมหาดไทยจึงได้นำส่งไปเก็บไว้ที่วัดเบญจมบพิตร กรุงเทพมหานคร
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบเรื่องพระปลัดปลื้มบูรณซ่อมแซมแปลงปราสาทนครหลวง ตามหนังสือกระทรวงธรรมาการกราบบังคมทูลแล้ว ทรงมีพระราชกระแสว่า “อนึ่ง พระจันทร์ลอยซึ่งกระทรวงมหาดไทยนำมาอยู่ที่วัดเบญจมบพิตร นั้น ก็ไม่อัศจรรย์อะไร ถ้าให้พระปลัดปลื้มรับกลับไปตั้งไว้ที่วัดพระนครหลวงนี้ คนเห็นจะตื่นกันบูชา เห็นจะเป็นเครื่องนำมาซึ่งทรัพย์สมบัติสำหรับก่อสร้าง ดีกว่าอยู่กรุงเทพฯ ยอมอนุญาตให้นำกลับคืนไป
พระจันทร์ลอยจึงกลับมาสู่ถิ่นเดิมอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไม่ใช่สถานที่เดิมคือ วัดเทพจันทร์ แต่ศาลาพระจันทร์ลอยภายในบริเวณปราสาทพระนครหลวงแห่งนี้ ก็ห่างจากวัดเทพจันทร์เพียงไม่กี่ร้อยเมตร
การเดินทางไปชมโบราณสถานแห่งนี้ ปัจจุบันเดินทางโดยรถยนต์นับว่าสะดวกที่สุด ออกจากกรุงเทพฯ ไปตามถนนสายเอเชีย จนถึงบ้านบ่อโพง ก่อนข้ามสะพานแม่น้ำป่าสักมีทางแยกอยู่ด้านขวามือคือ ถนนสายนครหลวง – ภาชี (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๓๐๖๓) เดินทางต่อไปอีกประมาณ ๙ กิโลเมตร ก็จะถึงปราสาทพระนครหลวง
กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ทำการซ่อมแซมบูรณเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี.
* นายประโชติ สังขนุกิจ ค้นคว้าเรียบเรียง
[๑] กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๑, ๒.
[๒] คำว่าปรางค์ในที่นี้เรียกโดยอนุโลม คล้ายคลึงกับที่มีอยู่ของวัดไชยวัฒนาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบางฉบับเรียกว่า “เมรุ”
[๓] ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๒๑
[๔] รายงานการขุดแต่งประสาทนครหลวง
[๕] ระยะทางเสด็จประพาสมณฑลอยุธยา พ.ศ. ๒๔๒๑
[๖] พระปลัดปลื้มเป็นชาวอำเภอพระนครหลวง บวชอยู่วัดจักรวรรดิ์ราชาวาส มีผู้นับถือทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้เป็นพระครูวิหารกิจจานุรักษ์
[๗] ปัจจุบันชื่อวัดเทพจันทร์ ตำบลหนองหลวง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วิดีทัศน์