ประวัติ
ภายหลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงรบชนะพม่าและทรงประกาศอิสรภาพขับไล่พม่าออกแล้ว ทรงย้ายเมืองหลวงตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรี เมื่อสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ได้มีการรื้ออิฐจากกำแพงเมืองและอาคารศาสนสถานที่ถูกทำลายระหว่างสงครามในกรุงศรีอยุธยาเพื่อนำไปใช้ในการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ให้มั่นคง และอยุธยาถูกทิ้งร้างไปเพราะยากที่จะบูรณะให้ดีดังเดิม
จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๗ - ๒๔๑๑) ทรงมีพระบรมราโชบายที่จะรื้อฟื้นเมืองอยุธยา จึงโปรดฯให้มีการอนุรักษ์และบูรณะโบราณสถานต่างๆ ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ทรงสร้างพระราชวังจันทรเกษมไว้เป็นที่ประทับ และทรงให้ฟื้นฟูพระราชวังหลวงโปรดฯให้สร้างพระที่นั่งสรรเพชญ์ปราสาทขึ้นใหม่บนรากฐานเดิม เป็นต้น ถึงแม้การดำเนินงานดังกล่าวจะยังไม่แล้วเสร็จในรัชสมัยของพระองค์ ก็นับว่าเป็นการริเริ่มกลับมาให้ความสำคัญแก่กรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๕๑ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) ทรงประกาศให้สงวนที่ดินเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาไว้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินห้ามเอกชนถือครอง ทรงมอบให้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) สมุหเทศาภิบาล ผู้ว่าการมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ดำเนินการสำรวจขุดแต่งโบราณสถานเมืองอยุธยา และปรับปรุงสภาพภายในพระราชวังโบราณ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่จะอนุรักษ์พระนครศรีอยุธยาไว้ในฐานะที่เป็นหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์เป็นครั้งแรก
พ.ศ.๒๔๗๕ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลภายใต้การนำของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้สนับสนุนให้มีการตราพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและที่ดินร้างภายในกำแพงเมืองให้กระทรวงการคลังถือครอง พ.ศ.๒๔๗๘ กรมศิลปากรในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรมประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานที่สำคัญในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นโบราณสถานของชาติ จำนวน ๖๙ แห่ง
พ.ศ. ๒๔๘๑ กรรมสิทธิ์ที่ดินเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาเป็นของกระทรวงการคลังตามพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการปรับปรุงเมืองร้างให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการปกครอง
พ.ศ.๒๔๙๙ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาหลายแห่ง เช่น วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดพระศรีสรรเพชญ์ เป็นต้น แต่การดำเนินการหยุดชะงักในปีถัดมา (พ.ศ.๒๕๐๐) เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบและกระทรวงวัฒนธรรมถูกสั่งยุบ
พ.ศ.๒๕๑๐ สำนักผังเมืองในสังกัดกระทรวงมหาดไทย เสนอให้กรมศิลปากรร่วมกับสำนักผังเมืองจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเทศบาลเมืองพระนครศรีอยุธยาดำเนินการพัฒนาเกาะเมืองตามโครงการสำรวจขุดต่างและบูรณะโบราณสถาน ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และบริเวณใกล้เคียงต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้รับการอนุมัติโครงการ
พ.ศ.๒๕๑๑ กรมศิลปากรได้รับการจัดสรรงบประมาณ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับดำเนินการตามโครงการพัฒนาเกาะเมือง ได้ดำเนินการขุดแต่งและบูรณะโบราณสถานที่สำคัญ
พ.ศ. ๒๕๑๙ กรมศิลปากรได้รับประกาศเขตพื้นที่ภายในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จำนวน ๑,๘๑๐ ไร่ เป็นเขตโบราณสถาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๙
พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ปรับปรุงเป็นโครงการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา โดยมีสำนักงานอยู่ที่ข้างวัดมหาธาตุ มีหน้าที่ดูแลและบูรณะโบราณสถาน จัดตั้งเป็นหน่วยศิลปากรที่ ๑ ต่อมาได้มีการย้ายสำนักงานมาตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าคุ้มขุนแผน เป็นอาคารก่ออิฐชั้นเดียว (ปัจจุบันได้รื้อออกไปแล้ว)
พ.ศ. ๒๕๓๐ เริ่มโครงการจัดทำแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และบริเวณใกล้เคียง
พ.ศ. ๒๕๓๔ องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) มีมติ ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนิเซีย ให้ขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาไว้ในบัญชีมรดกโลก เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ด้วยการตระหนักถึงความสำคัญและความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยาในอดีต
พ.ศ. ๒๕๓๖ คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการตามแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๖
พ.ศ.๒๕๓๗ รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้กรมศิลปากรดำเนินการตามแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็นปีแรก โดยสำนักงานศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยาได้ดำเนินการขุดแต่งบูรณะและปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โบราณสถานในเกาะเมืองและนอกเกาะเมือง ตามแผนแม่บทโครงการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ระยะที่ ๑ โดยคำนึงถึงหลักพื้นฐานในการปฏิบัติงานตามมาตราฐานของการสงวนรักษามรดกทางสถาปัตยกรรมของสภาระหว่างประเทศว่าด้วยอนุสรณ์สถานและแหล่งโบราณคดี (INTERNATIONAL COUNCIL ON MONUMENTS AND SITES) ซึ่งมีหัวข้อดังนี้
การป้องกันการเสื่อมสภาพ (PROTECTION)
การสงวนรักษาสภาพ (PRESERVATION)
การอนุรักษ์ (CONSERVATION)
การเสริมความมั่นคงแข็งแรง (CONSOLIDATION)
การบูรณปฏิสังขรณ์ (RESTORATION)
การฟื้นฟูสภาพตามเค้าโครงเดิมทางสถาปัตยกรรม (RECONSTRUCITION)
การรื้อขยับส่วนที่ชำรุดออกแล้วประกอบคืนตามสภาพเดิม (ANASTYLOSIS) ซึ่งจะใช้กับโบราณสถานที่สร้างด้วยหิน
กรมศิลปากรดำเนินการตามแผนงานโบราณคดีประวัติศาสตร์และการบูรณะโบราณสถานภายในและภายนอกเกาะเมือง รวมทั้งปรับปรุงสภาพภูมทัศน์เพื่อที่จะรื้อฟื้นโครงสร้างและบรรยากาศของเมือประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาให้ปรากฏมากที่สุด พร้อมไปกับการจัดระเบียบควบคุม และปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการหลักให้กับประชาชน เพื่อให้มีความสอดคล้องกลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของเมืองประวัติศาสตร์ โดยมีการแบ่งพื้นที่นครประวัติศาสตร์ออกเป็น ๗ เขต ดังนี้
เขต ๑ พื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์
เขต ๒ พื้นที่ในเกาะเมืองนอกเขตอุทยานประวัติศาสตร์
เขต ๓ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศตะวันออก
เขต ๔ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศตกวันตก
เขต ๕ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศเหนือ
เขต ๖ พื้นที่นอกเกาะเมืองด้านทิศใต้
เขต ๗ พื้นที่นอกเหนือจากที่ระบุไว้แล้วในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พ.ศ.๒๕๓๗ หลังจากได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การ UNESCO เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๔ แล้วโดยภายใต้ชื่อ “นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา” มีสำนักงานตั้งอยู่ที่บริเวณเจดีย์พระสุริโยทัย (ถนนอู่ทอง) ขึ้นอยู่กับสำนักงานศิลปากรที่ ๓ พระนครศรีอยุธยา ต่อมาได้ย้ายสำนักงานมาตั้งที่อาคารศาลากลาง (เก่า) เป็นการชั่วคราว ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ได้ใช้อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์เป็นที่ตั้งของสำนักงานอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามาจนถึงปัจจุบัน โดยมีหน้าที่ดูแลและรักษาโบราณสถานให้ข้อมูลทางด้านวิชาการและประวัติศาสตร์
การจัดแสดงในอุทยานฯ
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยามีศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ซึ่งจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา หลักฐานทางโบราณคดี และโบราณสถานสำคัญของเมืองพระนครศรีอยุธยา