ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดชะรามหรือวัดพระงาม


 

          วัดพระงามนี้ไม่ปรากฏหลักฐานทางเอกสารเกี่ยวกับวัดพระงาม จากหลักฐานการขุดแต่งพบว่าวัดพระงามมีผังตามที่นิยมในสมัยอยุธยาตอนต้นคือ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขอบเขตของวัดกำหนดจากคูน้ำล้อมรอบทุกด้าน มีเจดีย์ประธานอยู่หน้าโบสถ์ ซึ่งสันนิษฐานว่า ถูกดัดแปลงมาจากวิหาร เจดีย์ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมซ้อนอยู่บนฐานแปดเหลี่ยม เจดีย์องค์นี้มีร่องรอยของการพอกอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ได้เปลี่ยนรูปทรงเจดีย์ ลักษณะของเจดีย์สามารถนำไปเปรียบเทียบกับเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นและสืบต่อมาถึงอยุธยาตอนปลาย ส่วนโบสถ์เป็นอาคารยกพื้นมีฐานรอบอาคาร มีร่องรอยการสร้างทับอาคารเดิม จากการขุดแต่งและขุดค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมประเภทดินเผาปูนปั้น และโลหะ กระเบื้องมุงหลังคา ลวดลายปูนปั้นรูปนาค เทวดา เทพนม ตะปูจีน ฯลฯ ส่วนประเภทรูปเคารพทางศาสนาพบส่วนหน้าตักของพระประธาน พระพุทธรูปสำริดทรงเครื่องปางสมาธิ

       

 

          นอกจากนี้ยังพบเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น สิ่ว ผอบ หม้อก้นกลม เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่งจากแหล่งเตาบ้านบางปูน เตาแม่น้ำน้อย เตาศรีสัชนาลัย เตาสุโขทัยภาชนะดินเผาต่างประเทศที่พบมีเครื่องถ้วยจีน สมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เครื่องถ้วยเวียดนามและญี่ปุ่น จากโบราณวัตถุที่พบทั้งหมดและลักษณะรูปแบบทางสถาปัตยกรรม สามารถกำหนดอายุได้ตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ปลายพุทธศตวรรษที่ 19-20 ลงมาถึงอยุธยาตอนปลาย พุทธศตวรรษที่ 23-24