ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดจงกรม


 

          วัดจงกลม  เป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสระบัว  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ปัจจุบันเป็นวัดร้างอยู่ห่างจากฝั่งตะวันตกของคลองสระบัวประมาณ ๒๐๐ เมตร  เยื้องจากวัดพระรามหรือวัดพระงาม หรือวัดชะรามขึ้นไปทางเหนือ  วัดจงกลมมีขอบเขตพื้นที่โบราณสถานโดยประมาณ ๔ ไร่ ๒ งาน ๔๗ ตารางวา    รอบวัดติดกับที่ดินของชาวบ้านที่เช่าจากกรมศาสนา  ด้านทิศเหนือใกล้วัดพระยาแมน  ด้านทิศใต้ใกล้วัดพระรามหรือวัดพระงาม  หรือวัดชะราม ด้านทิศตะวันตกเป็นบริเวณทุ่งขวัญ  ด้านตะวันออกเป็นถนนทางเข้าวัดซึ่งสร้างทับลงบนถนนอิฐสมัยโบราณที่ตัดตรงมาจากคลองสระบัว

          ไม่ปรากฏหลักฐานประวัติความเป็นมาของวัดจงกลม แต่พบเรื่องราวเกี่ยวกับวัดจงกรม   ในเอกสารประวัติศาสตร์เรื่อง  “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนาสมัยสมเด็จพระเพทราชา”  ว่า  พระธรรมสารเถร  อธิการวัดจงกรม  ได้เข้าร่วมถวายพระพรสมเด็จพระเพทราชา  ณ พระที่นั่งบรรยงต์รัตนาสน์  ในพระบรมมหาราชวังใน พ.ศ. ๒๒๔๒  ซึ่งนับเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่า  วัดจงกลม  เป็นวัดเดียวกับวัดจงกรมในเอกสารประวัติศาสตร์ดังกล่าว  แต่ต่อมาภายหลังการสะกดคลาดเคลื่อนไปเพราะคำว่าจงกลมนั้นไม่มีความหมาย  แต่คำว่า จงกรม  หมายถึง อาการที่เดินไปมาในที่กำหนดอย่างพระเจริญกรรมฐานเดิน เรียกว่า  เดินจงกรม  ซึ่งอาจเปรียบเทียบได้กับภาพการเดินวนทักษิณาวัตรของพระพุทธรูปปางลีลาในซุ้มจระนำรอบเจดีย์ประธานวัดจงกลม  ซึ่ง  น. ณ ปากน้ำ  จิตรกรผู้สนใจในการศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ กล่าวไว้ในหนังสือ  “ห้าเดือนกลางซากอิฐปูนที่อยุธยา”  หนังสือที่รวมเรื่องราวการสำรวจโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาใน พ.ศ. ๒๕๑๐

          วัดจงกลมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้นสืบเนื่องมาจนไม่กี่สิบปีที่แล้วจึงได้ร้างไป  ทำให้วัดจงกลมชำรุดทรุดโทรมปรักหักพังลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งกรมศิลปากรเข้าไปดำเนินการขุดค้น  ขุดแต่งทางโบราณคดี  ในปีงบประมาณ ๒๕๔๒  หลังจากการขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดี  ได้พบหลักฐานตั้งแต่แรกสร้างวัดจนกระทั่งร้างไปที่สำคัญดังนี้

          เจดีย์ประธาน (โบราณสถานหมายเลข ๑)  ตั้งอยู่กึ่งกลางวัด  ทรงกลมตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมรองรับฐานหน้ากระดาน ๓ ชั้น  และฐานบัวลูกแก้วแปดเหลี่ยม ๒ ชั้น  ฐานบัวลูกแก้วกลม ๑ ชั้น  รอบฐานบัวลูกแก้วกลมมีซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น  ๒๔ ซุ้ม  ปัจจุบันหลุดร่วงไปหมดแล้ว  ถัดจากซุ้มจระนำขึ้นไปเป็นชั้นมาลัยเถา  ประกอบด้วยบัวลูกแก้ว ๓ ชั้น  รองรับองค์ระฆังทรงกลมเพรียว  เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์แปดเหลี่ยม ก้านฉัตรร่องรอยของเสาหานเหลืออยู่ ๑ ต้น  ต่อขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด  ที่ด้านทิศเหนือและใต้มีบันไดขึ้นสู่องค์เจดีย์  รอบเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายบริวารบนฐานแปดเปลี่ยม ๖ องค์  แต่เหลือเพียงส่วนฐานราก

          เจดีย์ประธานวัดจงกลมมีลักษณะรูปแบบคล้ายกับเจดีย์หลายองค์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ลักษณะพิเศษที่น่าสนใจประการหนึ่งคือที่ฐานด้านตะวันออกเจาะเป็นช่องโค้งแบบกลีบบัวเข้าไปภายในองค์เจดีย์ซึ่งมีเจดีย์องค์เล็กแบบสุโขทัยก่อเป็นกรุอยู่  รูปแบบคล้ายกับองค์เจดีย์ประธานที่สร้างครอบอยู่  ที่ผนังเจดีย์ประธานด้านในทำช่องซุ้มโค้งสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปโดยรอบ ๗ ซุ้ม  เจดีย์ประธานซึ่งสร้างครอบเจดีย์องค์เล็กก่อส่วนฐานขึ้นมาประสานกับเจดีย์องค์เล็กในลักษณะที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้าง

          เจดีย์ประธานวัดจงกลมสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้นพร้อมกับเจดีย์บริวารด้านเทิศเหนือ ๓ องค์  (หมายเลข ๑, ๒, ๓)  ทิศตะวันตกเฉียงใต้  (หมายเลข ๔) สร้างเป็นเจดีย์แบบทรงกลมฐานแปดเหลี่ยมทั้งหมด  เมื่อแรกสร้างฐานและองค์ระฆังมีขนาดเล็กกว่าปัจจุบัน  ไม่มีประติมากรรมประดับ  ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนกลางมีการบูรณะโดยการพอกขยายฐานรวมทั้งองค์ระฆังให้ใหญ่ขึ้น  แล้วก่อซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาบนชั้นฐานบัวลูกแก้วใต้ชั้นบัวลูกแก้วปากระฆัง  ก่อบัลลังก์แปดเหลี่ยมมีเสาหานหลอกเป็นเสาสี่เหลี่ยมแนบผนัง ก้านฉัตรทำเสาหานกลมล้อม  พอกขยายปล้องไฉนให้รับกับส่วนที่ขยายขึ้น  และสร้างเจดีย์รายบริวารเพิ่มขึ้นทางทิศใต้ ๑ องค์   ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๑ องค์  เป็นเจดีย์แบบทรงกลมฐานแปดเหลี่ยม  สมัยสุดท้ายที่มีการบูรณะเจดีย์ประธานคือสมัยอยุธยาตอนปลาย  มีการพอกขยายฐานชั้นล่างสุดออกไปประมาณ ๗๐ เซนติเมตร  เจดีย์รายบริวารได้รับการพอกขยายเช่นกัน  โดยเจดีย์รายหมายเลข  ๒,๓,๔,๖  พอกขยายปรับเปลี่ยนเป็นฐานกลม  หมายเลข ๑  พอกปรับเปลี่ยนเป็นฐานสี่เหลี่ยม

          วิหาร  (โบราณสถานหมายเลข ๒)   ตั้งอยู่หน้าเจดีย์ประธาน  เหลือเพียงส่วนรากฐานสูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐ เซนติเมตร   เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑๑.๗ x ๑๙.๒  เมตร  มีพาไล ๓ ด้าน  ยกเว้นด้านตะวันออก  ภายในมีเสาสี่เหลี่ยมรองรับเครื่องหลังคา ๒ แถว  ตรงกลางมีฐานชุกชีขนาด  ๕.๑ x ๑๐.๒  เมตร  ระเบียงด้านหลังมีเสากลมรองรับเครื่องบน ๖ ต้น 

          วิหารวัดจงกลม  มีการก่อสร้างและบูรณะรวม ๔ สมัย  เมื่อแรกสร้างเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่มีพาไล  สมัยที่ ๒  จึงก่อพาไลขึ้นทางด้านทิศเหนือ  ใต้  และตะวันตก  สมัยที่ ๓  มีการสร้างวิหารขึ้นใหม่ทับลงบนโครงสร้างเดิมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและชิดเจดีย์ประธานมากขึ้น  สมัยที่ ๔  ขยายวิหารให้ใหญ่ขึ้นอีกโดยก่อระเบียงด้านหน้าและด้านหลัง  ยกระดับวิหาร  ขยายฐานชุกชี  ดังที่เหลือรากฐานให้เห็นในปัจจุบัน

          อุโบสถ (โบราณสถานหมายเลข ๙)    ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวิหาร  ยังเหลือสภาพเดิมอยู่มาก  จนสามารถเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนว่าอุโบสถวัดจงกลมเป็นอุโบสถแบบที่นิยมสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย ขนาด ๕ ห้อง  ก่ออิฐสอปูน  กว้าง ๙.๒ เมตร  ยาว ๑๖.๔  เมตร  มีระเบียงด้านหน้า และด้านหลัง  พร้อมบันไดขึ้นลง  ไม่มีพาไล  ใช้ผนังรับน้ำหนักส่วนหลังคา  เจาะช่องประตูหน้า ๓ ประตู  ประตูหลัง ๒ ประตู  เจาะช่องหน้าต่างที่ผนังด้านทิศเหนือ – ทิศใต้ ด้านละ ๓ ช่อง  ฐานอุโบสถแอ่นโค้งแบบท้องสำเภา  ภายในปูพื้นอิฐฉาบปูน   ตรงกลางมีฐานชุกชี  รอบอุโบสถมีฐานตั้งใบเสมา ๘ ทิศ  รูปแบบและโครงสร้างของอุโบสถนับแต่แรกสร้างมีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย  แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ  การปิดตายช่องประตูบานกลางด้านหน้าและฃ่องประตูหลังทั้ง ๒ ประตู  สันนิษฐานว่า เพื่อเปลี่ยนเป็นอุโบสถแบบมหาอุดที่ได้รับความนิยมในสมัยอยุธยาตอนปลาย - สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          เจดีย์ฐานสูง (โบราณสถานหมายเลข ๑๐)  ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดเหลือเพียงส่วนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๗.๘ x ๗.๘ เมตร  สูง ๕.๕ เมตร มีบันไดทางขึ้นตรงกลางทั้ง ๔ ด้าน  ลักษณะของฐานเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซ้อนลดชั้นกันขึ้นไป ๒ ชั้น  ฐานชั้นล่างก่อเป็นระเบียงล้อมรอบ พร้อมเจาะช่องระบายน้ำที่ขอบเป็นระยะๆ

          เจดีย์องค์นี้มีภาพถ่ายเก่าแสดงให้เห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมก่อนจะพังทลายลงด้วย  พบว่าฐานสี่เหลี่ยมของเจดีย์ซ้อนลดระดับขึ้นไป ๓ ชั้น  ชั้นบนสุดตั้งเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมขนาดเล็ก ๑ องค์ เป็นเจดีย์ทรงเครื่องประกอบด้วยชุดฐานสิงห์และบัวกลุ่ม  แบบเจดีย์สมัยอยุธยาตอนปลายสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตั้งแต่เริ่มสร้างมีการซ่อมสร้างเพียงครั้งเดียวที่สำคัญคือ ก่อเสริมพนักระเบียงบนฐาน

          ศาลาราย  (โบราณสถานหมายเลข ๑๑ - ๑๖)   ซากอาคารผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม  ริมกำแพงด้านต่างๆ ของวัด  เหลือเพียงรากฐาน  ไม่สามารถบอกรูปแบบได้ชัดเจน  แต่จากชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุที่พบ สันนิษฐานได้ว่าน่าจะเป็นศาลาราย  มีทั้งสิ้น ๖ หลัง

           เจดีย์รายทรงเครื่อง   (โบราณสถานหมายเลข ๑๗ - ๒๘)  แต่ละองค์เหลือเพียงรากฐานที่น่าสนใจ ได้แก่  องค์ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ฐานสูง  พบชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมที่อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นเจดีย์ทรงเครื่องยอดปรางค์  และกลุ่มเจดีย์ทรงเครื่องบนฐานเดียวกันทางทิศใต้ของเจดีย์ฐานสูง  สถาปัตยกรรมประเภทเจดีย์ทรงเครื่องนี้นิยมสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

          กำแพงและประตูเข้าวัด   รอบวัดกั้นขอบเขตด้วยกำแพงอิฐซึ่งบูรณะขึ้นตามแนวรากฐานกำแพงเดิมของวัดที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา  มีประตูเข้าวัดอยู่ทางด้านตะวันออก

          วัดจงกลมน่าจะเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งในบริเวณทุ่งขวัญริมคลองสระบัว  ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอดจนกระทั่งร้างไปในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดจงกลมเป็นโบราณสถานของชาติ  โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๐ ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๖

 

 

 

 วิดีทัศน์