วัดกษัตราธิราช
วัดกษัตราธิราช ปรากฏนามในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ.๒๔๓๑ เดิมชื่อ “วัดกษัตรา หรือวัดกระษัตราราม” วัดนี้เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เลขที่ ๑๕ หมู่ ๗ ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วัดนี้ปรากฏนามในพระราชพงศาวดารครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ ด้วยเป็นวัดที่พม่าใช้เป็นที่ตั้งปืนใหญ่ยิงเข้ามาในพระนคร ทำให้บ้านเรือนเสียหายและราษฎรล้มตายมาก และวัดได้รกร้างไปในเวลาต่อมา สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ระหว่าง พ.ศ.๒๓๒๘ - ๒๓๔๙ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ (ทองอิน) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระราชศรัทธาปฏิสังขรณ์ และสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งพระอาราม และโปรดประทานนามพระอารามใหม่ว่า “วัดกษัตราธิราช”
ต่อมาใน พ.ศ.๒๓๖๑ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย สมเด็จพระเจ้าหลานเธอเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เกศ) ก็ได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่อีกครั้งหนึ่งและเข้าใจว่า น่าจะได้รับการปฏิสังขรณ์อีกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะลวดลายที่ประดับบนหน้าบันของศาลาตรีมุขเป็นลายพระเกี้ยว อันเป็นตราพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดกษัตราธิราชนี้ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๐ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๙๔ ตอนที่ ๒๓ วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๐ หน้า ๑๒๖๑ มีเนื้อที่ ๓๖ ไร่ ๓ งาน ๓๒ ตารางวา
เนื่องจากอาคารโบสถ์วิหารต่างๆ ภายในวัดส่วนใหญ่ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่หมด และใน พ.ศ. ๒๕๓๔ ก็ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ใหม่อีก ดังนั้นรูปแบบอาคารภายนอก จึงเป็นรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมแบบประเพณีสมัยใหม่ แต่ยังปรากฏร่องรอยที่แสดงว่าเป็นวัดมาแต่โบราณ ได้แก่ พระอุโบสถ พระปรางค์ประธาน พระเจดีย์สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง และพระปรางค์เล็กด้านหน้าพระอุโบสถ หอระฆัง มีรูปแบบคล้ายหอระฆังที่สร้างในรัชกาลที่ ๔ ด้วยยอดเป็นทรงยอดมงกุฎ ศาลาตรีมุข และกุฏิตึกแบบฝรั่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตามพระราชนิยม อันแสดงให้เห็นว่า วัดกษัตราธิราชนี้ได้รับการดูแลทะนุบำรุง ปรับปรุง และปฏิสังขรณ์ สืบต่อมาทุกยุคสมัยจนปัจจุบัน
พระอุโบสถ
พระอุโบสถก่อด้วยอิฐถือปูน ยกพื้นสูงมีประตูทางเข้าด้านหน้า ๒ ประตู อาคารพระอุโบสถมีขนาดกว้าง ๒๒ เมตร ยาว ๔๖ เมตร หลังคาซ้อน ๒ ชั้น หน้าบันประดับหลายเครือเถา ลงรักปิดทองประดับกระจก ตัวพระอุโบสถก่ออิฐเป็นผนังหนา เพื่อรองรับหลังคา ด้านนอกทำเป็นเสาในตัวตามแบบศิลปะอยุธยา ยอดเสาเป็นลายบัวแวง มีทวยไม้จำหลักรูปพญานาครองรับชายคาอยู่บนเสาทุกเสา ด้านหน้าประดับด้วยซุ้มบุษบกบัญชรตั้งอยู่บนแท่นใหญ่ ด้านหลังสร้างเป็นมุขขนาดเล็กเรียกมุขเด็จประดิษฐานพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ หน้าต่างเจาะเป็นช่องเล็กๆ ระหว่างช่วงหน้าต่างประดับด้วยลายดอกไม้เครือเถา ภายในพระอุโบสถบนฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับบนฐานบัวผ้าทิพย์ พระนามว่า พระพุทธกษัตราธิราช เป็นพระพุทธรูปในศิลปะอยุธยา ที่เพดานและขื่อประดับลายจำหลักลงรักปิดทองเป็นช่องกระจกดอกจอกอย่างสวยงาม บนลานพระอุโบสถโดยรอบตั้งใบเสมาอยู่บนฐานบัว ลักษณะใบเสมาสลักจากหิน ตรงกลางสกัดเป็นเส้นโค้งคล้ายรูปหัวใจ มีแถบยาวตัดตรงกลางอันเป็นลักษณะของเสมาในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงสมัยอยุธยาตอนปลาย
พระวิหาร
ในวัดกษัตราธิราช มีพระวิหาร ๔ หลัง คือ พระวิหารใหญ่ ๒ หลัง ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ และพระวิหารน้อย ๒ หลัง ซึ่งตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงแก้วของพระอุโบสถด้านทิศตะวันออกและตะวันตก
สำหรับพระวิหารใหญ่มีขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๓ เมตร ๕๐ เซนติเมตร หลังคาเป็นชั้นลด ๓ ชั้น พระวิหารหลังทิศใต้ ด้านหน้าทำเป็นประตูซุ้มยอดมณฑป หน้าบันของพระวิหารด้านทิศเหนือ สลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ล้อมรอบด้วยลายกระหนก ภายในพระวิหารบนฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปยืน ปางถวายเนตร และปางประทานอภัย รวม ๒ องค์ ทีผนังโดยรอบมีร่องรอยเจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก แต่ปัจจุบันทำเป็นหน้าต่างด้านละ ๓ บาน ส่วนหน้าบันของพระวิหารหลังใต้สลักภาพพราหมณ์อาลัมพายน์จับพญานาคภูริทัต ภายในพระวิหารด้านทิศใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางสมาธิเป็นพระประธาน และรูปพระศรีอาริยเมตไตรยจีวรดอก ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าของพระประธาน ที่ผนังเจาะเป็นช่องสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็ก ซึ่งลักษณะการเจาะผนังนี้นิยมมากในสมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ แต่สำหรับพระพุทธรูปและพระศรีอาริยเมตไตรยนั้นเป็นศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น
พระปรางค์
พระปรางค์ประธาน มีขนาดสูง ๒๒ เมตร ๖๐ เซนติเมตร เชื่อกันว่าประดิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย พระปรางค์นี้ทรงฝักข้าวโพด ตรงเรือนธาตุมีจระนำซุ้มทิศทั้ง ๔ ด้าน ภายในจระนำมีรูปจำลองเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองประดับเป็นภาพนูนสูง ลายอุณาโลมประดับอยู่ในส่วนหน้าบันเหนือซุ้ม ทั้งลักษณะของพระปรางค์ และรูปเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง รวมทั้งอุณาโลมเป็นลักษณะศิลปะอยุธยา
พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง
พระเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มี ๔ องค์ อยู่ด้านหลังพระวิหาร และเป็นที่บรรจุอัฐิอดีตเจ้าอาวาส ลักษณะของพระเจดีย์แสดงรูปศิลปะอยุธยาตอนปลาย
วัดกษัตราธิราชได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๑ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๕ ตอนที่ ๓๗ ง วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑
วิดีทัศน์
วัดกษัตราธิราช