ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดกระซ้าย


 

          วัดกระซ้าย ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา บริเวณทุ่งปากกราน ตำบลบ้านป้อม อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้างที่ยังไม่ได้มีการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอยู่บนเนินกลางทุ่งนา สันนิษฐานว่าสมัยก่อนมีคูน้ำล้อมรอบบริเวณวัด ปัจจุบันคูน้ำได้เปลี่ยนสภาพเป็นทุ่งนาไปหมดแล้ว เมื่อถึงฤดูทำนาจะมีน้ำเจิ่งนองล้อมรอบวัดและมีความลึกพอสมควร ไม่สามารถเดินทางด้วยเท้าเข้าถึงวัดได้
          วัดกระซ้าย สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สร้างในสมัยอยุธยาตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ อาจจะเป็นวัดสมัยเดียวกันหรือใกล้เคียงกันกับวัดสามปลื้ม วัดสุวรรณาวาส วัดนางคำ วัดจงกลม วัดหลังคาขาว และวัดพระรามที่อยู่บริเวณทุ่งขวัญ เพราะต่างมีเจดีย์ซึ่งมีรูปแบบคล้ายกัน กล่าวคือเจดีย์ทรงสูง ก่ออิฐไม่สอปูน ฐานแปดเหลี่ยม ระฆังกลม บัลลังก์แปดเหลี่ยม ข้างในกลวง มีการกล่าวถึงวัดนี้ในสมัอยุธยาตอนปลายแล้วในหนังสือ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” เกี่ยวกับการประหารชีวิตพระศรีศิลป์ซึ่งเป็นพระราชนัดดาของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ความว่า “มีพระราชนัดดาองค์หนึ่งเป็นโอรสของพระเชษฐา ชื่อพระศรีศิลป์กุมาร ชันษาได้ ๑๕ ปี จึ่งคิดเป็นขบถกับพระปิตุฉา จักมาสังหารชีวิตให้บรรลัย เอาพระแสงจะแทงพระนารายณ์ พระองค์จึ่งฉวยปลายกั้นหยั่งไว้ได้ทันที จึ่งจับตัวไว้ที่ทิมดาบ พระองค์ทรงแต่กำราบมิให้ตาย พระองค์สงสารกับกุมารนั้นว่า ไร้ปิตุเรศมารดา แล้วเห็นแก่พระไชยาทิตย์ด้วยรักใคร่สนิทสนมกัน เพราะเป็นเชษฐาได้ฝากพระศรีศิลป์ไว้แต่เมื่อใกล้จะสิ้นชีพพิราลัย จึ่งสั่งให้ออกจากโทษ พระองค์โปรดเลี้ยงไว้ตามที่ ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พระศรีศิลป์จึ่งคิดร้ายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระนารายณ์เสด็จออกว่าราชการเมืองอยู่ที่สีหบัญชร จึ่งพระศรีศิลป์ใจหาญนั้น ถือพระแสงแล้วแฝงใบบานประตูอยู่ที่ห้องเสด็จเข้าไป ผู้ใดมิได้ล่วงรู้เห็น อันพระนารายณ์นั้นออกไปว่าราชการ จึ่งเรียกช้างพระที่นั่งเข้ามาดู พระองค์ก็เสด็จทรงช้าง แล้วเสด็จเข้ามาทางหนีง อันพระศรีศิลป์นั้นยืนแอบประตูอยู่ จนพนักงานนั้นเชิญเครื่องเข้ามา จึ่งเห็นพระศรีศิลป์ถือพระแสงและแฝงประตูอยู่ อันพนักงานเครื่องนั้นจึ่งกราบทูลตามที่เห็น พระองค์จึ่งเสด็จตรงออกมา แล้วก็จับตัวกุมารได้ทันใด จึ่งตรัสสั่งนายเพชฌฆาตให้สังหารเสียให้ตักษัย นายเพชฌฆาตจึ่งให้คุมตัวพระศรีศิลป์ไป จึ่งเอาตัวนั้นมัดผูกพัน แล้วใส่ลงใสแม่ขันสาคร แล้วจึ่งเอาใส่ลงในถุงแดง แล้วก็แห่หามไปยังวัดกระซ้าย แล้วจึ่งขุดหลุมฝังเสียทั้งเป็น…”  

         และเมื่อตอนใกล้จะเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  พม่าได้ใช้วัดกระซ้ายเป็นที่ตั้งทัพ โจมตีกรุงศรีอยุธยาด้วยปืนใหญ่  ดังความในพระราชพงศาวดาร  กล่าวว่า

         “อยู่มาวันหนึ่ง  จึงมีพระศรีสุริยพาห  ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาป้อมท้ายกบให้ประจุปืน  มหากาลมฤตยูราชสองนัดสองลูกยิงค่ายพม่าวัดภูเขาทอง  และยิงออกไปได้นัดหนึ่งปืนก็ร้าวราน ครั้นเพลาค่ำไทยหนีเข้ามาในกรุงได้คนหนึ่งให้การว่าปืนใหญ่ซึ่งยิงออกไปนั้น  ต้องเรือรบพม่าล่มลงสองลำ  คนตายเป็นหลายคน  ครั้นรุ่งขึ้นเนเมียวแม่ทัพเกณฑ์ให้นายทัพนายกอง ทั้งปวงยกเจ้ามาตั้งค่าย ณ วัดกระซ้าย  วัดพลับพลาชัย  วัดเต่า  วัดสุเรนทร์  วัดแดง  ให้ปลูกหอรบขึ้นทุกๆ ค่าย  เอาปืนใหญ่น้อยขึ้นระดมยิงเข้ามาในกรุง…”

         จากการขุดแต่งโบราณสถานวัดกระซ้าย  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔  พบหลักฐานหลายอย่างเป็นข้อมูลว่า  วัดกระซ้ายแห่งนี้แบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสกับเขตสังฆาวาส  เขตพุทธาวาสเป็นที่ตั้งของโบราณสถานต่างๆ  ตามแนวทิศตะวันออก  -  ตะวันตก  โดยมีเจดีย์ทรงระฆังกลมตั้งบนฐานปัทม์แปดเหลี่ยมเป็นประธาน  ด้านหน้าเจดีย์ประธานทางทิศตะวันออกเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  สันนิษฐานว่าเป็นอุโบสถ  เพราะจากการขุดแต่งพบฐานเสมาและใบเสมา  รอบเจดีย์ประธานพบฐานเจดีย์ราย ๔ องค์ล้อมรอบด้วยกำแพงวัด  โบราณสถานต่างๆส่วนใหญ่ตั้งอยู่ด้านหน้าประธานทางทิศตะวันออก  นอกจากเขตพุทธาวาสแล้ว  เนินดินทางทิศใต้ขององค์เจดีย์ประธานพบเศษภาชนะดินเผาประเภท  หม้อทะนน  เตาเชิงกราน  ไหจากเตาแม่น้ำน้อย  และแหล่งเตาบ้านบางปูน  ส่วนใหญ่เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน  รวมทั้งเศษกระเบื้องมุงหลังคา  แต่ไม่พบรูปเคารพทางศาสนา  สันนิษฐานว่า  เนินดินบริเวณนี้เป็นเขตสังฆาวาส

         จากการขุดแต่งยังพบว่าวัดกระซ้ายมีการปรับพื้นที่ในเขพพุทธาวาสหลายครั้งด้วยกัน  ในสมัยแรกมีการปรับพื้นที่โดยนำดินเหนียวท้องนามาถมปรับพื้นที่ให้สูงขึ้นจากเดิม  เพื่อให้พ้นจากน้ำท่วม  จากหลักฐานที่ขุดค้นพบว่าในสมัยแรกยังไม่มีการสร้างเจดีย์ประธาน  และตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน  โดยเป็นพื้นที่โล่งอยู่นอกเมือง  โบราณวัตถุที่พบในดินช่วงนี้มีน้อยมาก  สมัยที่สองมีเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมเป็นประธาน  มีวิหารอยู่ทางด้านหน้าเจดีย์ประธาน  โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก  เป็นคตินิยมของการสร้างวัดในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑  ในสมัยนั้นเจดีย์ประธานมีทั้งที่เป็นเจดีย์ทรงกลม  เจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม หรือปรางค์  เช่นวัดส้มใช้ปรางค์เป็นประธาน  วัดพลับพลาชัยใช้เจดีย์ทรงกลมเป็นประธาน  ส่วนการใช้เจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมเป็นประธานแบบวัดกระซ้ายได้แก่วัดหัสดาวาส  วัดตะไกร  วัดจงกลม  เป็นต้น  ซึ่งวัดทั้งสามนี้  ขุดค้นขุดแต่งระบุได้ว่าสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑  ต่อมาในสมัยที่สามมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นและก่อสร้างสิ่งใหม่เพิ่มเติมคือ  วิหารที่อยู่ด้านหน้าของเจดีย์ประธานถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นอุโบสถ  มีการสร้างเจดีย์รายและกำแพงแก้วรอบอุโบสถขึ้น

         การเปลี่ยนวิหารให้กลายเป็นอุโบสถ  แสดงให้เห็นถึงความสำคัญกับอุโบสถ  ซึ่งลักษณะเช่นนี้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยอยุธยาตอนกลาง  ราวปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๑  เป็นต้นไป  เช่น  วัดวังชัย  สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ  ต่อมาเมื่อถึงพุทธศตวรรษที่ ๒๓  ความสำคัญของอุโบสถยิ่งมีมากขึ้น  วัดที่สร้างขึ้นในช่วงนี้จะสร้างอุโบสถเป็นประธานของวัด  เช่น  วัดบรมพุทธาราม  ที่สร้างสมัยสมเด็จพระเพทราชา  และหากเป็นวัดที่ปฏิสังขรณ์ในช่วงเวลาดังกล่าว  ก็มักแปลงจากวิหารที่เคยตั้งอยู่หน้าเจดีย์ประธานให้กลายเป็นอุโบสถ  เช่น  วัดมเหยงคณ์  ที่ปฏิสังขรณ์ในสมัยสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ  พ.ศ. ๒๒๕๔

         วัดกระซ้ายในช่วงนี้ได้มีการก่อพอกเฉพาะส่วนฐานของเจดีย์ประธาน  แปลงจากแปดเหลี่ยมเป็นสี่เหลี่ยมเพื่อค้ำองค์เจดีย์ไม่ให้ทรุดไปมากกว่าที่เป็นอยู่  ก่อกำแพงรอบโบราณสถานตั้งแต่อุโบสถ  เจดีย์รายทั้งสี่องค์รวมทั้งเจดีย์ประธานและได้ขยายพื้นที่โบราณสถานไปทางทิศตะวันตก  จากรูปแบบสถาปัตยกรรมและโบราณวัตถุทั้งจากการขุดค้นและขุดแต่ง  พอจะกำหนดอายุสมัยได้ว่าอยู่ในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ ๒๓ ลงมา

         ช่วงเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  พ.ศ. ๒๓๑๐  แถบวัดกระซ้าย  วัดเต่า  วัดสุเรนทร์  เป็นที่ตั้งทัพของพม่า  จากการขุดแต่งพบโบราณวัตถุประเภทอาวุธ เช่น มีด  หอก  ดาบ  ทวน  ลูกกระสุนปืนใหญ่  เป็นหลักฐานสำคัญที่สนับสนุนข้อมูลทางประวัติศาสตร์ว่าวัดกระซ้ายใช้เป็นที่ตั้งทัพสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  นอกจากโบราณวัตถุประเภทอาวุธแล้ว  ยังพบโบราณวัตถุที่เป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม  เช่น กระเบื้องมุงหลังคาแบบกาบกล้วย กระเบื้องเชิงชายเป็นลายเส้นโค้งประกอบกันเป็นรูปสามเหลี่ยม  พระพิมพ์ดินเผาแบบพระแผง  และโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้

         เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒  แล้ว  วัดกระซ้ายคงเป็นวัดร้าง  จากข้อมูลที่ได้จากการขุดแต่งขุดค้นประกอบกับหลักฐานทางเอกสาร  แสดงให้เห็นว่า  วัดกระซ้ายมีการสร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐  และดำรงเป็นวัดอยู่จนเสียกรุงศรีอยุธยา  ครั้งที่ ๒

         อนึ่งวัดกระซ้ายแห่งนี้มีชาวบ้านแถบวัดกลางทุ่งปากกรานซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดกระซ้าย  เคยเข้ามาขุดกรุที่องค์เจดีย์ได้โบราณวัตถุเป็นพระพิมพ์ดินเผา  ลักษณะของพระพิมพ์เป็นดินแผ่นรูปห้าเหลี่ยมด้านไม่เท่ากัน  พิมพ์เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิบรรจุอยู่ ๓ แถว  แถวละ ๓ องค์  และอยู่บนสุดอีก ๑ องค์ พระพิมพ์ที่ขุดได้มี ๒ ขนาด  คือ  ขนาด  ๑๗ x ๑๐ x ๑.๕ เซนติเมตร  กับขนาด  ๑๑ x ๖.๕ x ๑.๕ เซนติเมตร  พระพิมพ์วัดกระซ้ายนี้  ชาวบ้านแถบนั้นมีความเคารพนับถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก

 

 แผนที่ : การเดินทาง