วัดดุสิตาราม
วัดดุสิดาราม* ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๕ ตำบลหันตรา อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วัดมีเนื้อที่ประมาณ ๙ ไร่ ปัจจุบันมีพระภิกษุจำพรรษา สังกัดคณะมหานิกาย
หนังสือประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๔ ของกรมการศาสนา กล่าวถึงประวัติการสร้างวัดดุสิดารามว่า สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๐๐ และรับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๑๑๐[๑] หนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ตอนที่กล่าวถึงพระอารามหลวงในกรุงศรีอยุธยา ระบุชื่อวัดแห่งหนึ่งว่า วัดดุสิตมหาพระนเรศวรทรงสร้าง[๒] สันนิษฐานว่า หมายถึงวัดดุสิดาราม
วัดนี้มีเจดีย์สูงใหญ่เป็นโบราณสถานสำคัญของวัด น. ณ ปากน้ำ ได้กล่าวถึงเจดีย์องค์นี้ว่า มีลักษณะเช่นเดียวกับเจดีย์วัดใหญ่ไชยมงคลแต่มีขนาดเล็กกว่า[๓]
แต่ฐานของเจดีย์วัดดุสิดารามนั้น เป็นฐานแปดเหลี่ยม และปรากฏร่องรอยว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมภายหลัง คล้ายคลึงกับส่วนฐานของเจดีย์ทองแดงวัดมเหยงคณ์ ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลายราวรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ต่อมากรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ ลงในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๒ ตอน ๕๙ ง ลงวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๓๘
จากหลักฐานดังกล่าวและลักษณะโบราณสถานที่ปรากฏ สรุปได้ว่า วัดดุสิดารามสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง และได้มีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนปลาย
กล่าวกันว่าวัดดุสิดารามมีความเกี่ยวเนื่องกับบุคคลในประวัติศาสตร์ผู้หนึ่งคือ เจ้าแม่วัดดุสิต ผู้เป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) กับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เจ้าแม่วัดดุสิตผผู้นี้ มีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าทางสายสมเด็จพระมหาธรรมราชา[๔] สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ทรงกล่าวถึงเจ้าแม่วัดดุสิตไว้ในหนังสือราชนิกูล รัชกาลที่ ๕ ว่ามีศักดิ์เป็นหม่อมเจ้าชื่อบัว[๕] ส่วนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ทรงกล่าวถึงเจ้าแม่ดุสิตไว้ในเรื่องเจ้าชีวิต ว่าเป็นหม่อมเจ้า ทรงพระนามว่า อำไพ ซึ่งต่อมาบวชเป็นชีได้รับขนานสมญาว่า เจ้าแม่วัดดุสิต[๖]
จากหลักฐานที่กล่าวแล้ว พอสรุปความได้ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตนั้นเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) กับเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ท่านผู้นี้ได้มาสร้างตำหนักไว้ใกล้ๆ วัดดุสิดาราม จึงได้ชื่อว่าเจ้าแม่วัดดุสิต และตำหนักแห่งนี้ต่อมาเป็นที่ประทับของกรมพระเทพามาตย์ พระมเหสีของพระเพทราชา ดังความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาตอนที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในรัชสมัยพระเจ้าเสือว่า
“ในขณะนั้น สมเด็จพระอัครมเหสีแห่งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงในพระบรมโกศ ซึ่งเป็นพระราชมารดาเลี้ยงของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน ได้อภิบาลบำรุงรักษาพระองค์มาแต่ยังทรงพระเยาว์นั้น ครั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคตแล้ว จึงทูลลาสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินออกไปตั้งพระตำหนักอยู่ในที่ใกล้พระอารามวัดดุสิต และที่พระตำหนักวัดดุสิตนี้เป็นที่พระตำหนักมาก่อน ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้า และเจ้าแม่ผู้เฒ่าซึ่งเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าและเป็นมารดาเจ้าพระยาโกษาเหล็ก เจ้าพระยาโกษาปาน ซึ่งได้ขึ้นช่วยกราบบังคมทูลของพระราชทานโทษสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินขณะเป็นที่หลวงสรศักดิ์ และชกเอาปากเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ครั้งนั้น และเจ้าแม่ผู้เฒ่าก็ได้ตั้งตำหนักอยู่ในที่นี้ ครั้นแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้และสมเด็จพระราชมารดาเลี้ยงก็เสด็จตั้งพระตำหนักอยู่ในที่นี้สืบต่อกันมา แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ตั้งเป็นกรมพระเทพามาตย์” [๗]
วัดดุสิตที่กล่าวถึง เมื่อพิจารณาจากภูมิสถานที่ตั้งแล้ว น่าจะหมายถึงวัดดุสิดาราม แต่ตำหนักเจ้าแม่วัดดุสิต และตำหนักของกรมพระเทพามาตย์ที่กล่าวถึงนั้นไม่ปรากฏร่องรอย
โบราณสถานที่สำคัญ
เจดีย์ประธาน เป็นโบราณสถานสำคัญที่สุดภายในวัด รูปทรงสูงใหญ่ ตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมย่อมุม ฐานชั้นถัดไปอีกสามชั้นเป็นรูปแปดเหลี่ยม ฐานช่วงกลางประดับแข้งสิงห์ ถัดจากฐานแปดเหลี่ยมเป็นบัวลูกแก้ว ตัวองค์ระฆังเป็นทรงเรียว ตรงบัลลังก์ย่อมุมไม้สิบสอง มีเสาหาน ถัดขึ้นไปเป็นปล้องไฉนและปลียอด มีบันไดทางขึ้นลงด้านทิศใต้ สภาพเจดีย์ชำรุด มีต้นไม้ปกคุลม
จากโครงสร้างขององค์เจดีย์ แสดงว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนกลาง แล้วมีการบูรณะซ่อมแซมในสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยเฉพาะส่วนฐานชั้นล่างมีร่องรอยการซ่อมแซมอย่างชัดเจน เจดีย์องค์นี้นับเป็นสิ่งก่อสร้างที่สำคัญเป็นประธานของวัด ตรงมุมทั้งสี่ของเจดีย์ประธาน มีเจดีย์บริวารมุมละองค์ ทั้งฐานชั้นบนและฐานชั้นล่าง โดยเฉพาะฐานชั้นล่างได้ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน (๒ องค์) ส่วนของเดิมชำรุดพังทลาย
อุโบสถ อุโบสถวัดดุสิดารามมีขนาดเล็กซึ่งเป็นลักษณะการสร้างอุโบสถในสมัยอยุธยาตอนปลาย ฐานอุโบสถแอ่นเป็นท้องสำเภา ด้านหน้ามีพาไลและหลังคามีประตูทางเข้าด้านหน้าสองข้าง ด้านข้างเจาะหน้าต่างข้างละบาน มีเสาประดับผนังประดับกลีบบัว หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ประดับช่อฟ้าใบระกาทำด้วยไม้ หน้าบันเป็นไม้แกะสลักลายกระหนก ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสมัยอยุธยา อุโบสถทรุดโทรมมาก แต่ปัจจุบันยังใช้ประกอบพิธีสำคัญทางศาสนา เช่น บวชนาค ส่วนการทำบุญในวันธรรมสวนะใช้ศาลาการเปรียญ
เสมารอบอุโบสถ เป็นเสมาสมัยอยุธยาตอนปลาย สร้างด้วยหินทรายสีขาว รูปทรงเรียวมีลายดอกไม้ประดับตรงกลางด้านบนและด้านล่าง ตั้งอยู่บนฐานรูปดอกบัว แต่ตัวฐานเป็นของที่ทำขึ้นใหม่ ใบเสมามีร่องรอยว่าประดับกระจกแต่หลุดหายไปเกือบหมด
เนื่องจากอุโบสถมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แสดงว่าสร้างขึ้นหลังเจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่า อุโบสถหลังนี้คงสร้างขึ้นแทนอุโบสถหลังเก่า ซึ่งคงจะทรุดโทรมลง
ต่อมาในปี ๒๕๓๙ ทางวัดได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ทางด้านหน้าวัดติดถนน ปัจจุบัน (๒๕๔๗) ยังไม่แล้วเสร็จ
ศาลา ด้านทิศใต้ของพระอุโบสถ มีศาลาโถงหลังหนึ่งเป็นศาลาที่สร้างขึ้นใหม่ ภายในประดิษฐานสิ่งสำคัญคือ รอยพระพุทธบาทและใบเสมาหินทรายแดง
รอยพระพุทธบาท สร้างด้วยหินทรายสีขาว ขนาดยาวประมาณหนึ่งเมตร กว้างประมาณครึ่งเมตร ตรงกลางรอยพระพุทธบาทเป็นรูปธรรมจักร นอกธรรมจักรทำเป็นตารางสี่เหลี่ยม ภายในสลักภาพมงคล เป็นลักษณะการสร้างรอยพระพุทธบาทในสมัยอยุธยาตอนปลาย รูปแบบคล้ายๆ กับรอยพระพุทธบาทที่สมเด็จพรเจ้าอยู่หัวบรมโกศส่งไปถวายกษัตริย์ลังกา[๘] รอยพระพุทธบาทได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดดุสิดารามมาแต่เดิม ชาวบ้านพบอยู่ในแอ่งน้ำในบริเวณใกล้วัด จึงนำมาไว้ที่วัดนี้เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๘ หรือ ๒๕๐๙ [๙]
สันนิษฐานว่า รอยพระพุทธบาทแห่งนี้เดิมน่าจะประดิษฐานอยู่ที่วัดสมณโกฏฐาราม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดดุสิดารามนัก ดังหลักฐานประกอบคือ
วัดสมณโกฎฐาราม เป็นวัดซึ่งเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาในสมัยพระเพทราชาได้ใช้เป็นที่เผาศพแม่นมของเจ้าพระยาโกษาธิบดี[๑๐] วัดสมณโกฏฐารามนี้ในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ เรียกว่า วัดพระยาพระคลัง จากการอธิบายแผนผังของวัดและรอยพระพุทธบาท[๑๑] สันนิษฐานว่ารอยพระพุทธบาทที่กล่าวถึงในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์ว่า ประดิษฐานอยู่ที่วัดสมณโกฏฐารามนั้น น่าจะหมายถึงรอยพระพุทธบาทซึ่งประดิษฐานอยู่ที่วัดดุสิดารามในปัจจุบัน
เสมาหินทราย อยู่ทางด้านหน้าศาลา ใบเสมาตั้งอยู่บนฐานสูง เจ้าอาวาสวัดดุสิดาราม (พระเฉลิม ฐิตสังวโร) บอกว่าได้มาจากบริเวณใกล้ๆ วัด จากรูปแบบและลวดลายมีผู้สันนิษฐานว่า เป็นใบเสมาสมัยอโยธยา[๑๒] ซึ่งยังไม่เป็นข้อสรุป เพราะลักษณะทางศิลปะชวนให้คิดว่าเป็นงานในสมัยอยุธยาราวพุทธศตวรรษ ๒๐ - ๒๑ ได้ด้วย
นอกจากนี้ยังมีสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ เช่น กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญเป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูง และเมรุเผาศพ
อนึ่ง เมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน (พระอรรถชัย กตปุญโญ) ได้พบฐานอิฐทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ห่างจากอุโบสเก่าประมาณ ๑๕๐ เมตร ติดทางรถไฟ สันนิษฐานว่าจะเป็นฐานมณฑป ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่าเคยมีมณฑปในบริเวณวัดแห่งนี้ ทั้งนี้ทางวัดได้แจ้งไปยังกรมศิลปากรเพื่อสำรวจแล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งหากเป็นซากโบราณสถานก็จะเป็นหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่นักโบราณคดีต้องศึกษาค้นคว้าและเป็นแนววิเคราะห์วัดแห่งนี้ต่อไป.
* นายธีระ แก้วประจันทร์ ค้นคว้าเรียบเรียง
[๑] กรมการศาสนา. ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๔. ๒๕๒๘. หน้า ๑๑๕.
[๒] กรมศิลปากร. คำให้การชาวกรุงเก่า คำให้การขุนหลวงหาวัด และพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์. ๒๕๐๗. หน้า ๒๑๖.
[๓] น. ณ ปากน้ำ “วัดนอกตัวเกาะอยุธยา” ช่อฟ้า. ปีที่ ๑ เล่ม ๗ มิถุนายน ๒๕๐๙ หน้า ๒๔.
[๔] ม.ร.ว. ศึกฤธิ์ ปราโมช. โครงกระดูกในตู้. ๒๕๑๔. หน้า ๑๘.
[๕] สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช. ราชนิกูลรัชกาลที่ ๕. ๒๕๑๐. หน้า ๓
[๖] พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์. เจ้าชีวิต. ๒๕๐๔. หน้า ๘๓.
[๗] กรมศิลปากร. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒. ๒๕๓๕. หน้า ๘๙.
[๘] นันทนา ชุติวงศ์. รอยพระพุทธบาทในศิลปะเอเชียใต้และเอเชียอาคเนย์. ๒๕๓๓. หน้า ๕๔.
[๙] สัมภาษณ์ พระเฉลิม ฐิตสังวโร. เจ้าอาวาสวัดดุสิดาราม ในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๕.
[๑๐] กรมศิลปากร. ไทยในจดหมายเหตุแกมป์เฟอร์. ๒๕๐๘ หน้า ๑๖.
[๑๑] แหล่งเดิม. หน้า ๕๒ - ๕๕.
[๑๒] น. ณ ปากน้ำ. วิวัฒนาการลายไทย. ๒๕๒๔. หน้า ๖๑ - ๖๕.