วัดช้าง
เป็นวัดร้างตั้งอยู่ใกล้กับวัดมเหยงคณ์ โดยอยู่ทางด้านทิศใต้ของตำหนักมเหยงคณ์ ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับประวัติการสร้างวัด ภายหลังการขุดแต่งพบว่าแผนผังและรูปแบบของโบราณสถานภายในวัดช้างนั้นมีความคล้ายคลึงกับวัดมเหยงคณ์ กล่าวคือ มีเจดีย์ช้างล้อมเป็นประธานของวัด มีการสร้างเจดีย์รายประจำที่มุมทั้งสี่โดยรอบเจดีย์ประธาน และทำกำแพงวัดล้อมรอบ ส่วนพระอุโบสถจะอยู่ถัดออกมาทางด้านหน้าของเจดีย์ประธานนอกเขตกำแพงที่ล้อมรอบเจดีย์ประธาน และมีการสร้างกำแพงวัดล้อมส่วนของพระอุโบสถ ซึ่งมีลักษณะการจัดวางแผนผังเหมือนกับแผนผังของวัดมเหยงคณ์ในสมัยแรกสร้างวัด นอกเหนือไปจากการพบหลักฐานประติมากรรมรูปช้างปูนปั้นจำนวนมากภายในวัดแล้ว ยังพบประติมากรรมปูนปั้นรูปยักษ์ สิงห์ หงส์ อีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าแผนผังของวัดช้างนั้นเหมือนกับแผนผังของวัดช้างรอบเมืองกำแพงเพชร ที่มีการประดับบริเวณบันไดทางขึ้นด้วยประติมากรรมรูปสิงห์และยักษ์ในฐานะทวารบาลผู้พิทักษ์รักษาศาสนสถาน
จากหลักฐานที่พบจากการขุดแต่งข้างต้นจึงพอจะสันนิษฐานได้ว่าวัดช้างน่าจะมีความสำคัญควบคู่กับวัดมเหยงคณ์มาแต่สมัยอยุธยาตอนต้นซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ด้วยตำแหน่งของวัดที่อยู่ใกล้เคียงกัน ลักษณะของการจัดวางอาคารในแผนผังและรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกันของทั้งสองวัดนี้ ทำให้เชื่อได้ว่าอาจเป็นวัดที่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 นั้น โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแก่เจ้าอ้าย และเจ้ายี่ พระเชษฐาของพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ในการรบแย่งชิงราชสมบัติก่อนที่พระองค์จะขึ้นครองราชย์ก็อาจเป็นได้