วัดกุฎีดาว
วัดกุฎีดาว มีสภาพเป็นวัดร้าง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัด พระนครศรีอยุธยา นอกเกาะเมือง หรืออยู่ทางด้านทิศตะวันออกของสถานีรถไฟพระนครศรีอยุธยา การ เดินทางไปวัดกุฎีดาวค่อนข้างสะดวก คือไปทางรถยนต์จากทางแยกไปทางทิศเหนือของวงเวียนเจดีย์วัดสาม ปลื้มประมาณ ๑ กิโลเมตร ก็จะถึงวัดซึ่งตั้งอยู่ริมถนนทางฝั่งซ้าย มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ จดถนนทางเข้าวัดประดู่ทรงธรรมและวัดจักวรรดิ์
ทิศใต้ จดถนนเข้าหมู่บ้านราษฎร
ทิศตะวันออก จดถนนที่ตัดแยกมาจากวงเวียนวัดสามปลื้ม ตรงข้ามกับทางเข้าวัดมเหยงคณ์
ทิศตะวันตก ติดกับป่าละเมาะ ซึ่งเป็นที่ดินของวัดประดู่ทรงธรรม
ประวัติการก่อสร้างวัดกุฎีดาวไม่ชัดเจน ปรากฏในหนังสือพงศาวดารเหนือว่า พระยาธรรมิกราช ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสายน้ำผึ้งทรงสร้างเมื่อจุลศักราช ๖๗๑ ปีเถาะ เอกศก และพระอัครมเหสี ของพระองค์ทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ขึ้นคู่กัน ส่วนในคำให้การขุนหลวงหาวัดกล่าวว่า พระมหาบรมราชา ทรงสร้างวัดกุฎีดาว (กุฎิทวา) และพระภูมินทราธิบดีทรงสร้างวัดมเหยงคณ์ แต่พระราชพงศาวดารกรุง ศรีอยุธยาหลายฉบับกล่าวความต้องกันว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (เจ้าสามพระยา) ทรงสร้างวัด มเหยงคณ์ และไม่มีฉบับใดกล่าวถึงวัดกุฎีดาว จนกระทั่งสมัยอยุธยาตอนปลาย เมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดมเหยงคณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จึงปรากฏเรื่องของวัดกุฎีดาวขึ้นในตอนนี้ สันนิษฐานว่าวัดกุฎีดาวอาจจะสร้างรุ่นราวคราวเดียวกับวัดมเหยงคณ์ หรือหลังจากวัดมเหยงคณ์เล็กน้อย และคงเป็นวัดขนาดใหญ่ที่สำคัญวัดหนึ่งทางบริเวณที่เรียกว่า “อโยธยา” เนื่องจากพระราชพงศาวดารกรุงศรี อยุธยากล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าท้ายสระทรงปฏิสังขรณ์วัดมเหยงคณ์ อีกไม่กี่ปีต่อมาสมเด็จพระอนุชาธิ ราชกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ก็ได้ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามขึ้นบ้าง เป็นการดำเนินตาม แบบอย่างของสมเด็จพระเชษฐาธิราช การเลือกวัดกุฎีดาวเป็นวัดพี่วัดน้องกับวัดมเหยงคณ์นั้น แสดงว่าวัด กุฎีดาวสร้างมานานแล้ว คงเป็นวัดใหญ่ที่สำคัญแต่มีสภาพทรุดโทรมพอๆ กับวัดมเหยงคณ์ การปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งนี้จึงจะสมพระเกียรติ เริ่มในปี พ.ศ. ๒๒๕๔ กินเวลา ๓ ปีเศษจึงสำเร็จ สมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ต้องเสด็จประทับแรม ควบคุมการก่อสร้างแต่ละครั้งเป็นเวลานาน ดังข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า
“…สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลให้ช่างปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาวอันใหญ่ ในปีเถาะ ตรีนิศก เสด็จไปทอดพระเนตรการที่วัดนั้น เดือนหนึ่งบ้าง สองเดือนบ้าง เหมือนพระเชษฐาธิ ราช ๓ ปีเศษวัดนั้นจึงสำเร็จแล้วบริบูรณ์
ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ คล้ายคลึงกันว่า
“…ฝ่ายสมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว และตรัส สั่งให้ตั้งพระตำหนักริมวัด ก็เสด็จออกไปอยู่คราวละเดือนหนึ่งบ้าง ๒ เดือนบ้าง ๓ เดือนบ้าง…”
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่นๆ มีความคล้ายกัน
หลังจากปฏิสังขรณ์เสร็จแล้ว ยังไม่ได้มีงานสมโภชพระอารามทันที รอเวลาต่อมาอีก ๒ ปี คงจะเนื่องจากมีงานฉลองวัดมเหยงคณ์ และการต่อเรือกำปั่นใหญ่ไปค้าขายที่เมืองมะริด ซึ่งมีการตีสมอขนาดใหญ่ที่วัดมเหยงคณ์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคลอาจจะยังไม่ว่างพระราชกิจจึงยังไม่โปรดให้จัดงานฉลองวัดกุฎีดาว จนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๒๕๘ จึงโปรดให้จัดงานฉลองวัดเป็นงานใหญ่ ดังข้อความว่า
“…ณ ปีมะแม สัปตศกนั้น พระมหาอุปราชให้ฉลองวัดกุฎีดาว บำเพ็ญพระราชกุศลให้ทานสักการบูชาแก่พระรัตนตรัยเป็นอันมาก ให้เล่นงานมหรสพสมโภช ๗ วัน การฉลองนั้นสำเร็จบริบูรณ์…”
หลังจากนี้ไม่มีเรื่องราวถึงวัดกุฎีดาวในเรื่องของการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอีก แต่ปรากฎว่าวัดกุฎีดาวเป็นวัดหลวง และเป็นที่พำนักของพระเทพมุนี พระราชาคณะซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยามาก เมื่อสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรเสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆ นั้น เจ้านายพี่น้อง ๓ พระองค์ คือ กรมหมื่นจิตรสุนทร กรมหมื่นสุนทรเทพ และกรมหมื่นเสพภักดี พากันกระด้างกระเดื่อง สมเด็จพระเจ้าอุทุมพรต้องทรงใช้วิธีนิมนต์พระราชาคณะ ๕ รูป ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือเข้ามาช่วยเจรจา ประนีประนอม ทั้งนี้ โดยมีพระเทพมุนีเจ้าอาวาสวัดกุฎีดาวเป็นประธาน ดังข้อความในพระราชพงศาวดาร ต่อไปนี้
“…ในเพลาเย็นวันนั้น พระราชาคณะห้ารูป คือ พระธรรมโคดม วัดธรรมิกราชหนึ่ง พระธรรม เจดีย์ วัดสวนหลวงศพสวรรค์หนึ่ง พระพุทธโฆษาจารย์ วัดพุทไธสวรรย์หนึ่ง พระเทพมุนี วัดกุฎีดาวหนึ่ง
พระเทพกระวี วัดรามาวาสหนึ่ง แต่พระเทพมุนีนั้นมีวัสสามากกว่าทั้งนั้น เข้ามาพร้อมกันอยู่ ณ ทิมสงฆ์ ครั้นเพลาประมาณทุ่มเศษ จึงมีพระราชบัณฑูรให้มานิมนต์เข้าไป ณ พระตำหนักสวนกระต่าย ตรัสอาราธนาพระราชาคณะทั้งห้ารูป มีพระเทพมุนีเป็นประธาน ให้ไปว่ากล่าวเล้าโลมเจ้าสามกรมให้มา สมัครสมานสโมสรสามัคคีรสด้วยกันตามพระราชโอวาสตรัสสั่งไว้ และพระราชาคณะทั้งห้าไปเจรจาถึงสองกลับ จนเพลาดึกสามยามเศษจะใกล้รุ้งเจ้าสามกรมจึงมาเฝ้ากระทำสัตย์ถวายทั้งสามพระองค์…”
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๐๙ รัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศพระเทพมุนีวัดกุฎีดาวได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราชดังข้อความว่า
“…ในกรุงเทพมหานครในเดือน ๘ นั้น สมเด็จพระสังฆราช วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ นั้นอาพาธลงดับสูญ ทรงพระกรุณาให้แต่งศพใส่พระโกศไว้ จึงโปรดให้เลื่อนพระเทพมุนี วัดกุฎีดาว ซึ่งเข้ามาอยู่ ณ วัดสวรรคเจดีย์นั้นขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช อยู่ได้หกเจ็ดเดือนก็อาพาธดับสูญลงอีก โปรดให้ใส่พระโกศไว้เป็นสองพระโกศ ยังมิได้ปลงพระศพทั้งสองศพด้วยศึกยังติดพระนครอยู่…”
เมื่อพิจารณาจากหลักฐานในพระราชพงศาวดารจะเห็นว่าวัดกุฎีดาวนั้นได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ดังนั้น ลักษณะแบบอย่างทางศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ของวัดกุฎีดาวที่เหลืออยู่จึงเป็นแบบอยุธยาตอนปลายร่วมสมัยกับการบูรณะที่วัดมเหยงคณ์
ซากโบราณสถานหรือสถาปัตยกรรมของวัดกุฎีดาวที่ยังปรากฎอยู่ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มโบราณสถานในเขตพุทธาวาส อยู่ในวงกำแพงแก้ว มีเฉพาะอาคารพระตำหนัก หรือที่เรียกกันว่า “กำมะ เลียน” เท่านั้นที่อยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ เข้าใจว่าบริเวณดังกล่าวอาจเป็นเขตสังฆาวาสในสมัยโบราณ แต่กุฎิเสนาสนะอื่นๆ คงปรักพังสูญหายไปตามกาลเวลา เนื่องจากสมัยโบราณนิยมสร้างด้วย เครื่องไม้
การวางผังอาคารฝ่ายพุทธาวาสของวัดกุฎีดาว มีลักษณะเรียงอาคารไปตามแนวยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก คือ ด้านทิศตะวันออกมีอาคาร (อุโบสถ หรือวิหาร) หลังหนึ่งตั้งอยู่เป็นอันดับแรก ถัดไปเป็นเจดีย์ใหญ่หรือเจดีย์ประธานของวัด ถัดเข้าไปเป็นอาคาร (อุโบสถ หรือ วิหาร) อีกหลังหนึ่ง เรียงลำดับเป็นแนวตรง มีเจดีย์รายเป็นส่วนประกอบทางด้านข้างทั้งสอง กลุ่มสถาปัตยกรรมเหล่านี้อยู่ในวง กำแพงแก้วรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ลักษณะการวางผังอาคารเรียงเป็นแกนนี้ น. ณ ปากน้ำ กล่าวว่าได้คติมาจากศาสนสถานอินเดียซึ่งขุดเป็นคูหาเข้าไปในภูเขา คือด้านหน้าจะเป็นวิหารต่อไป จึงถึงเจดีย์หรือสถูปประธาน เมื่อไทยรับคติการสร้างศาสนสถานมาแปลงเป็นการสร้างอาคาร ในภาคเหนือยังค่อนข้างรักษาธรรมเนียมเดิม คือสร้างวิหารไว้ข้างหน้าเจดีย์ ส่วนภาคกลางนิยมตรงกันข้ามกับภาคเหนือ จะวางผังโดยมีอุโบสถอยู่หน้าเจดีย์ ดังความว่า
“…แปลนพระอุโบสถที่นี้ก็เช่นเดียวกับพระอุโบสถทั่วๆ ไปในอยุธยา คือ หลังพระอุโบสถจะมีพระเจดีย์ใหญ่เป็นหลักของวัดแล้วก็มีกำแพงแก้วล้อมบริเวณพระอุโบสถ โอบรอบพระเจดีย์ไว้ด้วย”
นอกจากนี้นักโบราณคดีท่านอื่นๆ กล่าวว่า วัดในสมัยอยุธยานั้นนิยมสร้างวิหารไว้ด้านหน้าของเจดีย์ซึ่งเป็นประธานของวัด คืออยู่ทางทิศตะวันออก ส่วนอุโบสถอยู่ทางด้านหลัง คือทางทิศตะวันตก อย่างไรก็ตาม จากการที่ได้พิจารณาผังวัดขนาดใหญ่ของอยุธยาที่สร้างตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น จนถึงตอนปลาย เฉพาะที่ยังมีซากอาคารให้เห็นการวางผังได้ชัดเจนนั้น จะเห็นว่าไม่สามารถกำหนดเป็นหลักเกณฑ์ได้แน่ชัดว่า สมัยอยุธยาตอนต้น ตอนกลาง หรือตอนปลายช่วงใดแน่ที่นิยมสร้างอุโบสถไว้หน้าเจดีย์ (หรือปรางค์) หรือสร้างอุโบสถไว้หลังเจดีย์ (หรือปรางค์) เนื่องจากมีทั้งสองแบบปะปนกันไป ส่วนที่วัดกุฎีดาวนี้ เมื่อกรมศิลปากรได้สำรวจและเรียบเรียงประวัติครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๐๑ กล่าวว่าซากอาคาร หน้าเจดีย์คือวิหาร ส่วนอาคารหลังเจดีย์คืออุโบสถ ซึ่ง น. ณ ปากน้ำ ก็ได้กล่าวไว้อย่างเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากขณะสำรวจระยะแรกไม่พบใบเสมา หรือฐานใบเสมาอยู่ใกล้อาคารใด แต่ น. ณ ปากน้ำ ว่า วัดขุนญวน (วัดพรหมนิวาส) ได้มาขนใบเสมาจากวัดกุฎีดาวไปไว้ที่วัดนั้น เป็นใบเสมาทำด้วยหินสีเทา ในการสำรวจจัดทำผังโดยกองโบราณคดีใน พ.ศ. ๒๕๓๐ ได้กำหนดในผังว่า อาคารทางทิศตะวันออกหน้าเจดีย์เป็นอุโบสถ อาคารทิศตะวันตกด้านหลังเจดีย์เป็นวิหาร
จากการขุดแต่งเพื่อบูรณะวัดกุฎีดาวในพุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้พบหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า อาคาร ซึ่งตั้งอยู่หน้าเจดีย์ใหญ่นั้นคืออุโบสถ เนื่องจากพบฐานของเสมาตั้งประจำ ๖ ทิศของอาคาร
สถาปัตยกรรมในวงกำแพงแก้วของวัดกุฎีดาวปัจจุบัน และที่ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ มี ดังรายละเอียดแต่ละรายการ ดังนี้
กำแพงและซุ้มประตู
ทอดยาวจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก ล้อมรอบเขตพุทธาวาส ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ย่อมุมด้านละ ๓ ส่วน ด้านยาวของกำแพงจะย่อเก็จยื่นออกไปทั้ง ๒ ด้านทำให้มีลักษณะแปลกและสวยงาม และที่ย่อมุมแต่ละมุมนั้นทำเป็นเสาหัวเม็ดขนาดใหญ่ ยอดส่วนใหญ่จะหักชำรุด เสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์เหล่านี้ มีการทำย่อมุมไม้สิบสองจนถึงยอด ซึ่งเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่ซ้อนกันหลายชั้น ส่วนบนสุดน่าจะมียอดแหลม แต่ปัจจุบันหักหายไปหมด รูปทรงสัณฐานของหัวเม็ดของแนวระเบียงเจดีย์ประธาน และแนวเตี้ยๆ ของพระอุโบสถ ก็น่าจะมีรูปแบบเช่นเดียวกับหัวเม็ดทรงมัณฑ์ของกำแพงวัดนี้ กำแพงทั้ง ๔ ด้านมีซุ้มประตูทางเข้าออกด้านละ ๒ ประตู เป็นซุ้มโค้งรูปกลีบบัว ด้านข้างทำซุ้มบันแถลงซ้อนกัน ๒ ชั้น
ซุ้มบันแถลงมีการทำช่อฟ้าใบระกา เช่นเดียวกับซุ้มประตูหน้าต่างของโบสถ์วิหาร และมีร่องรอยว่าเคยมีบานประตูไม้ไว้เปิดปิดเหมือนกันทุกซุ้ม ขนาดซุ้มด้านหน้าใหญ่กว่าด้านอื่น ซุ้มด้านหน้า ด้านหลังและด้านข้างทิศใต้ยังอยู่ในสภาพค่อนข้างดี ซุ้มกำแพงด้านทิศเหนือชำรุดปรักพังเหลือสมบูรณ์ซุ้มเดียว กำแพงและซุ้มประตูทั้งหมดนี้ก่อด้วยอิฐถือปูน กำแพงกว้างประมาณ ๖๓ เมตร ยาวประมาณ ๒๕๖ เมตร
นอกจากนี้ ถัดจากแนวกำแพงออกมา จะมีแนวอิฐก่อล้อมรอบอีกทีหนึ่ง สันนิษฐานว่าน่าจะเป็น แนวอิฐกันดินที่รองรับสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดของวัดกุฎีดาว
อุโบสถ
ตั้งอยู่ด้านหน้าวัดและหน้าเจดีย์ใหญ่ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนาดกว้างประมาณ ๑๕.๔ เมตร ยาวประมาณ ๒๗.๘๐ เมตร เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ฐานสูงประมาณ ๑.๙๐ เมตร มีมุขหน้าหลัง ลักษณะฐานด้านข้างเป็นเส้นโค้งหย่อนดังท้องสำเภาตามแบบอยุธยา ส่วนฐานมุขหน้าและหลังนั้น ทำย่อมุมด้านละ ๓ มุม มีร่องรอยลายปูนปั้นเป็นลายฐานสิงห์ สภาพอาคารปัจจุบันปรักพัง เหลือผนังเพียง ๓ ด้าน คือ ด้านหน้าและด้านข้างทั้งสอง หลังคาคงจะเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องซึ่งหักพังหมดแล้วเหลือร่องรอยเป็น ช่องรับขื่อคานและคันทวย ที่ยอดผนังตามแนวของเสาประดับผนัง ผนังด้านหน้ามีประตู ๓ ประตู ประตูกลางใหญ่ที่สุด ช่องประตูเจาะเป็นซุ้มรูปกลีบบัว ยังมีรอยปูนปั้นเป็นซุ้มยอดหรือทรงปราสาทให้เห็นเพียงเล็กน้อย ฐานรองรับซุ้มประตูเป็นฐานสิงห์ ประตูริม ๒ ข้าง มีซุ้มเป็นทรงปราสาทยอดระฆัง ฐานรองรับ เป็นฐานสิงห์เช่นเดียวกัน ระหว่างประตูมีเสาประดับผนังคั่น บัวหัวเสาเป็นบัวกลีบยาวหรือบัวแวง ผนัง ด้านหลังมีประตูทางเข้า ๒ ทาง อยู่บริเวณริมผนังทั้ง ๒ ด้าน ส่วนช่องกลางสันนิษฐานว่าน่าจะใช้เป็นที่ ประดิษฐานพระพุทธรูป เนื่องจากพบร่องรอยการทำซุ้มติดกับผนังมีฐานสิงห์รองรับกรอบซุ้ม ผนังด้านข้าง ทั้งสองของอุโบสถเจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๘ ช่อง มีแนวเสาประดับผนังคั่น๑ บัวหัวเสาเป็นบัวแวง หรือบัวกลีบยาว ซุ้มหน้าต่างปั้นปูนเป็นทรงบันแถลงมีส่วนรองรับหน้าต่างเป็นขาสิงห์ ซึ่งมีแกนภายในเป็นดินเผา ช่องหน้าต่างที่เรียงรายมีการก่ออิฐอุดช่องเว้นช่อง โดยช่องที่อุดได้ทำเป็นบานหน้าต่างหลอกไว้ เข้าใจ ว่าเป็นการอุดในสมัยหลัง ภายในอาคารมีเสากลม ๒ แถว แถวละ ๗ ต้น ที่เหลือให้เห็นปัจจุบันมีจำนวน ๖ ต้น คือ ทางด้านทิศเหนือ ๒ ต้น และทิศใต้ ๔ ต้น ลักษณะเป็นเสากลมก่ออิฐถือปูน หัวเสาปั้นเป็น บัวตูมหรือบัวโถ ฐานชุกชีถูกลักขุดเจาะทำลาย ลักษณะแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาด ๘.๗ x ๘.๗ เมตร จากการขุดแต่งพบร่องรอยการสร้างทับฐานชุกชีเดิม ซึ่งเป็นฐานสิงห์อยู่ในระดับเดียวกับพื้นปูอิฐ ภายนอก ขาสิงห์และนมสิงห์จะมีรอย ๒ หยักเช่นเดียวกับที่พบในฐานสิงห์ขององค์เจดีย์ประธาน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นฐานชุกชีของอาคารเดิมในสมัยอยุธยาตอนกลาง ก่อนที่จะถูกรื้อเฉพาะตัวอาคารแล้ว สร้างอุโบสถใหม่พร้อมฐานชุกชีครอบทับไว้ในสมัยอยุธยาตอนปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
สภาพของหลังคา จากหลักฐานที่เหลืออยู่ เช่นตำแหน่งของรอยเต้าไม้คันทวย รวมทั้งไม้ขื่อที่เหลืออยู่บางส่วนติดกับเสากลมภายในอาคาร พอสันนิษฐานได้ว่า ลักษณะของอาคารมีหลังคาเป็นเครื่องไม้ ซ้อนลดหลั่นกัน ๓ ชั้น มีทั้งหมด ๓ ตับ ยกเว้นมุขด้านหน้าและหลังจะมีเพียง ๒ ตับ ชายคาปีกนก รองรับด้วยคันทวย
จากการขุดแต่งยังพบแนวกำแพงแก้วเตี้ย ๆ ลักษณะย่อมุมไม้สิบสองล้อมรอบตัวอุโบสถอีกแห่ง หนึ่ง มีทางเข้าตรงกับบันไดขึ้นมุขทั้ง ๒ เพราะมุขด้านหลังฝั่งด้านทิศเหนือยังพบฐานของเสาหัวเม็ด ทรงมัณฑ์อยู่ ๑ เสา ซึ่งปัจจุบันกำแพงส่วนนี้พังทลายลงเกือบหมดเหลือหลักฐานเพียงด้านทิศตะวันตก เล็กน้อยและเสาหัวเม็ดทรงมัณฑ์ดังกล่าว
นอกกำแพงแก้วเตี้ยๆ ที่พังทลายลงหมดแล้วนี้มีฐานของใบเสมาเหลืออยู่ ๖ ทิศ ขาดเพียง ๒ ทิศ คือ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ฐานที่เหลือเป็นฐานย่อมุมไม้สิบสอง แนวของฐานเสมา เหล่านี้จะไม่ตรงเป็นแนวเดียวกัน จะเยื้องกันเล็กน้อย
เจดีย์ประธาน
เจดีย์ใหญ่หรือเจดีย์ประธานของวัด ตั้งอยู่หลังอุโบสถ ปัจจุบันอยู่ในสภาพปรักพัง คือยอดหัก เหลือเพียงองค์ระฆังบางส่วน ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมตั้งอยู่บนฐานประทักษิณย่อมุมไม้ ๒๐ ความ สูงเจดีย์เท่าที่เหลือ ๑๔.๕๐ เมตร ฐานประทักษิณมีความสูง ๒.๗๐ เมตร ลวดลายขาสิงห์ที่ประดับฐานทำ รอยหยัก ๒ หยัก ซึ่งมีลักษณะแปลกจากที่อื่น บนลานประทักษิณปูด้วยแผ่นหินไดโดไลท์สีเขียวอ่อน – เทา เดิมคงมีระเบียงล้อมรอบแต่พังหมดแล้ว เหลือเพียงเสา องค์เจดีย์ประธานมีบันไดทางขึ้น ๒ บันได อยู่ทางทิศตะวันออก แต่ละบันไดกว้างประมาณ ๑.๗๐ เมตร
จากการขุดแต่งทำให้พบว่าเจดีย์องค์นี้คงได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ไม่ต่ำกว่า ๒ ครั้ง คือ สภาพเจดีย์องค์ใน มีแกนก่ออิฐกลมตรงกลาง และก่อเป็นรัศมีรอบๆ หรือที่เรียกว่า “เอ็น” สอด้วยดิน แล้วจึงก่อเปลือกขององค์ระฆังฉาบด้วยปูนหมัก ส่วนองค์ที่ ๒ ซึ่งพอกทับเจดีย์ในสุดไว้ เห็นเพียงส่วนขององค์ ระฆังกลม บัวปากระฆัง มาลัยเถา ๓ ชั้น และส่วนของปล้องไฉนที่ตกลงมากองอยู่ที่ข้างฐานเจดีย์ และเจดีย์องค์นอกสุดเป็นการบูรณะครั้งสุดท้ายที่ก่อพอกทับเจดีย์ ๒ สมัยดังกล่าวไว้
บนลานประทักษิณมีเจดีย์ทิศจำนวน ๘ องค์ ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมบนฐานแปดเหลี่ยม มีความกว้างเหลี่ยมละประมาณ ๑.๐ เมตร
วิหาร
ตั้งอยู่หลังเจดีย์ประธาน หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขด้านหน้าและหลัง ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดอาคารเล็กกว่าอุโบสถ แต่ฐานมุขด้านหน้าและหลังไม่ได้ย่อมุม ด้านข้างเป็นเส้นโค้งหย่อนท้องสำเภาน้อยกว่าอุโบสถ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑๔.๑๐ เมตร ยาว ๒๗ เมตร เป็นอาคารขนาด ๘ ช่วงเสา แต่ละช่วงเสากว้างประมาณ ๓.๑๐ เมตร ช่วงเสาหัว – ท้ายอาคาร มี ความกว้างมากกว่าช่วงอื่นๆ คือประมาณ ๓.๕๐ เมตร
ผนังอาคารตั้งอยู่บนฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีขนาดความสูงจากพื้นประมาณ ๑.๖๐ เมตร ผนังอาคาร ด้านสกัดพังเหลือด้านทิศตะวันออกบางส่วน มีการเจาะประตูทางเข้า ๒ ประตู ระหว่างประตูคงเป็นซุ้ม พระฐานรองรับซุ้มประตูและซุ้มพระเป็นฐานสิงห์ เสาอิงผนังทั้งสองด้านยังอยู่ในสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ มีบัวหัวเสาเป็นบัวแวง ผนังด้านข้างทั้ง ๒ ด้าน ยังอยู่ค่อนข้างสมบูรณ์ ปูนฉาบหลุดร่วงเหลือเพียงบางส่วน มีเสาอิงผนังเป็นช่วงๆ และแลเห็นร่องรอยของรูเต้าและรูคันทวยชัดเจน ที่ช่วงเสาที่ ๒,๕ และ ๗ เจาะช่องหน้าต่าง มีซุ้มทรงบันแถลงบนฐานปัทม์
ตัวอาคารมีมุขยื่นออกมาทั้งด้านหน้าและหลัง มีบันไดขึ้นลงตรงด้านข้างของมุข มุขละ ๒ บันได กว้าง ๑.๔๐ เมตร พื้นภายในปูอิฐแล้วปูกระเบื้องดินเผาทับ เสาภายในอาคารเป็นเสากลม มี ๒ แถว แถว ละ ๗ ต้น หักเหลือแต่โคนเสาทั้งหมด ได้พบชิ้นส่วนหัวเสาเป็นบัวโถ
ฐานชุกชีเป็นฐานสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานพระอันดับเป็นฐานสิงห์เรียงรายรอบๆ
ฐานอาคารตรงที่ทำเป็นชั้นบัวลูกแก้วอกไก่ พบว่ามีการใช้กระเบื้องดินเผาเป็นลูกแก้วอกไก่สอปูน ต่อกันเป็นแนวยาวแล้วฉาบด้วยปูน แทนการถากอิฐเป็นลูกแก้วอกไก่ ส่วนฐานมุขวิหารนั้นประดับฐาน สิงห์เหมือนฐานอุโบสถ ที่มุขด้านทิศตะวันตกเหลือเสาอยู่ ๑ ต้น เป็นเสาย่อมุมไม้ ๑๒ บัวหัวเสาเป็นบัว จงกลหรือบัวแวง มีความสูงประมาณ ๘.๓ เมตร
เจดีย์ราย
บริเวณในเขตกำแพงมีเจดีย์รายกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ดังนี้
ด้านทิศเหนือ มี ๗ องค์
๑. เจดีย์ทรงปราสาทย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่ทิศเหนือของโบสถ์
๒. เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่ทิศเหนือของโบสถ์ เหลือเพียงฐาน
๓. เจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเจดีย์ประธาน
๔. เจดีย์ทรงระฆังย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งประจำมุมเจดีย์ประธานด้านทิศเหนือ ๒ องค์
๕. เจดีย์ทรงระฆังกลมบนฐานสี่เหลี่ยม ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวิหาร
๖. ฐานเจดีย์พบทางด้านทิศเหนือของวิหารใกล้ลำดับที่ ๕
ด้านทิศใต้ มี ๗ องค์
๑. เจดีย์ทรงปราสาทย่อมุมไม้ยี่สิบแปดบนฐานสิงห์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถ
๒. เจดีย์ย่อมุมไม้ยี่สิบ ตั้งอยู่บนฐานย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุโบสถ
๓. เจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยม มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร
๔. เจดีย์ทรงระฆังย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่ประจำมุมเจดีย์ประธานด้านทิศใต้ ๒ องค์
๕. เจดีย์ทรงปราสาทย่อมุมไม้ยี่สิบบนฐานเขียงสี่เหลี่ยม ประดับลวดลายด้วยฐานสิงห์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวิหาร
๖. เจดีย์ทรงระฆังกลมบนฐานสิงห์แปดเหลี่ยม พบร่องรอยการพอกทับภายใน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ ของวิหาร
๗. ฐานเจดีย์เหลือเพียงฐานเขียงสี่เหลี่ยม อยู่ทางทิศใต้ของวิหาร
นอกจากนี้ระหว่างเจดีย์ประธานและวิหาร ได้พบฐานก่ออิฐสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งไม่อาจสันนิษฐานได้ ว่าเป็นอะไรอีก ๑ ฐาน
กุฏิสงฆ์
ตั้งอยู่นอกกำแพงด้านทิศใต้ เหลือเพียงฐาน มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๖.๘ x๑๕.๗ เมตร
พระตำหนัก
ตั้งอยู่ทางทิศเหนือนอกกำแพงเขตพุทธาวาส เป็นอาคาร ๒ ชั้นก่ออิฐถือปูน มีผังเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง ๑๔.๖๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตร หรือขนาดยาว ๑๑ ห้อง กว้าง ๓ ห้อง หันหน้าสู่ทิศตะวันออก มีมุขด้านหน้าและหลัง
ตัวอาคารตั้งอยู่บนฐานปัทม์มีลักษณะแอ่นโค้งดังท้องสำเภา ส่วนฐานของมุขหน้าและหลังเป็นฐาน สิงห์ ลักษณะคล้ายฐานสิงห์ของอุโบสถและวิหาร มีบันไดทางขึ้นด้านข้าง ๒ ทาง ผนังด้านยาวชั้นบน เจาะช่องหน้าต่างด้านละ ๑๑ ช่อง หน้าต่างเป็นทรงโค้งแหลม เสาอิงผนังทุกด้านมีการเจาะรูเต้าและรู สำหรับคันทวย ผนังชั้นล่างเจาะช่องหน้าต่าง ๑๐ ช่อง บริเวณกึ่งกลางชั้นล่าง เจาะช่องประตูทางเข้าด้าน ละ ๑ ช่อง ผนังด้านสกัดทั้ง ๒ ด้าน ชั้นบนเจาะช่องประตู ๓ ช่อง เป็นช่องโค้งแหลม ช่องกลางมีขนาด ใหญ่ที่สุด ส่วนด้านล่างมีการเจาะช่องประตูขนาดเล็กช่องเดียวเชื่อมต่อมุขกับภายในอาคาร มีการประดับ ด้วยฐานสิงห์ระหว่างผนังชั้นบนและชั้นล่าง
ภายในอาคารชั้นล่าง มีเสาตอม่อ ๘ เหลี่ยม ๒ แถว แถวละ ๑๐ ต้น และพบว่ามีการก่อตอม่อ ๘ เหลี่ยมที่มีขนาดเล็กกว่าติดไว้กับตอม่อใหญ่เพื่อช่วยรับน้ำหนักอาคาร ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นการ บูรณะในสมัยหลังจากการสร้างในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ และมียังมีแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด ๑.๗ x ๓.๗ เมตร ตลอดจนเสากลมก่ออิฐขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งไม่อาจทราบจุดประสงค์ของ การสร้างได้
อาคารพระตำหนักหรือกำมะเลียนนี้ สันนิษฐานว่าเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ขณะ เมื่อประทับแรมควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์วัด หลังจากนั้นคงจะถวายวัด และอาจใช้เป็นกุฎิเจ้าอาวาสหรือ ศาลาการเปรียญ*** โบราณสถานวัดกุฎีดาว เป็นกลุ่มสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าต่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดกุฎีดาวเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๒ ตอนที่ ๗๕ วันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๘
วิดีทัศน์
แผนที่ : การเดินทาง