ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดถนนจีน


 

          วัดถนนจีน*  เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะเมือง ซึ่งเคยเป็นหมู่บ้านชาวจีนใกล้กับคลองในไก่  คำว่า  ในไก่”  นี้นักประวัติศาสตร์บางท่านสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจาก  นายก่าย”   นามของชาวจีน  ซึ่งอาจจะเคยตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณนี้   นอกจากนั้นยังมีประตูในไก่เป็นประตูน้ำ  ชักน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเข้ามาตามคลองในไก่ไปออกแม่น้ำป่าสัก  ถัดจากประตูในไก่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยาทางทิศตะวันตกจะมีป้อมอกไก่  และประตูจีน  ซึ่งเป็นประตูน้ำชักน้ำเข้าไปตามคลองประตูจีน  (คลองข้าวเปลือก)

          ในสมัยอยุธยา  วัดถนนจีนน่าจะเป็นวัดสำคัญวัดหนึ่งของชาวจีน  ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ระหว่างคลองประตูจีน (คลองข้าวเปลือก) กับคลองในไก่ และเชื่อว่าคงจะเป็นหมู่บ้านใหญ่มาก  พระยาโบราณราชธานินทร์ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่อง  อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยา  ว่า  ย่านบ้านแห  ขายแหแลเปลป่านด้ายตะกอแลลวด  มีตลาดขายของคาว  ปลาสด  เช้าเย็น  อยู่ในบ้านแขกใหญ่  ชื่อตลาดจีน ๑…    ย่านบ้านวัดน้อยประตูจีน ขายปรอท  ทองเหลืองเคลือบ ๑   ย่านในไก่เชิงสะพานประตูจีนไปเชิงสะพานประตูในไก่  เป็นย่านจีนอยู่ตึกทั้งสองฟากถนนหลวง  นั่งร้านขายของสรรพเครื่องสำเภา  ไหม แพร  ทองขาว  ทองเหลือง  ถ้วย  โถ  ชาม  เครื่องสำเภาครบ  …จีนทำเครื่องจันอับ  แลขนม ทำโต๊ะเตียงและถังน้อยใหญ่  และทำสรรพเครื่องเหล็ก…” [๑]

          นามของหมู่บ้านชาวจีนมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารสมัยอยุธยาหลายตอน  อย่างเช่น  ในช่วงปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ  พุทธศักราช ๒๒๖๙  เจ้าฟ้าอภัยสั่งให้ข้าราชการวังหลวงจัดแจงผู้คนกะเกณฑ์กระทำการตั้งค่ายคู  ดูตรวจตราค่ายรายเรียงไปตามคลอง  แต่ประตูข้าวเปลือกจนถึงประตูจีน[๒]  และในช่วงรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พุทธศักราช ๒๒๙๘  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งพระยาราชสุภาวดีบ้านประตูจีน  เป็นเจ้าพระยาอภัยราชาว่าที่สมุหนายก[๓]

          ถ้าพิจารณาตามชื่อวัด  สันนิษฐานได้ว่าน่าจะตั้งอยู่ริมถนนจีน  ซึ่งเป็นถนนคู่ขนานกับถนนป่าโทน  แต่ไม่มีหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง  ปัจจุบันเป็นวัดร้าง  ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลประตูชัย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  สำนักโบราณคดี  กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา  เล่มที่ ๕๘  ตอนที่ ๑๖ เมื่อวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๔  แต่ยังไม่ได้ทำการขุดแต่งบูรณะ  สภาพทั่วไปของวัดถนนจีนเท่าที่ปรากฏในปัจจุบันคงมีแต่ปรางค์ ๑ องค์  อยู่ในสภาพชำรุด มีต้นไม้ปกคลุม มีเนินโบราณสถานอยู่ทางทิศตะวันออก  ส่วนด้านทิศเหนือของโบราณสถานวัดถนนจีนนี้  มีคูน้ำเป็นแนวยาว  ทางด้านทิศตะวันตกเป็นสระน้ำค่อนข้างใหญ่  และทางด้านทิศใต้เป็นบ้านอยู่อาศัยของประชาชน  ซึ่งใกล้กับองค์ปรางค์มากจนดูเหมือนว่าปรางค์ของวัดถนนจีนเป็นส่วนหนึ่งของบริเวณบ้าน

          ปรางค์ของวัดถนนจีน เป็นปรางค์ขนาดใหญ่ก่อด้วยอิฐ  อยู่ในสภาพชำรุดมาก  อิฐชั้นนอกหลุดกระเทาะออกจนเกือบหมด  เห็นแต่แนวอิฐชั้นในซึ่งก่ออิฐสอดินเป็นโครงทรงสี่เหลี่ยม  มีร่องรอยของซุ้มเรือนธาตุ  ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ  ซุ้มด้านทิศตะวันออกถูกขุดทำลายเป็นช่องกว้างใหญ่มากจนสามารถเห็นห้องกรุภายในเรือนธาตุ สังเกตได้ว่าโครงสร้างภายในของปรางค์วัดถนนจีนนี้เป็นทรงสี่เหลี่ยม  ทำซ้อนกันเป็นผังรูปกากบาท  ช่องว่างระหว่างกากบาทใส่ดินกรุอัดแน่นเป็นการประหยัดอิฐ  และช่วยเสริมให้โครงสร้างแข็งแรงยิ่งขึ้นอีกด้วย

          ส่วนบนของเรือนธาตุยังคงมีแนวปูนฉาบอยู่ด้านข้าง  ทำให้เห็นร่องรอยลักษณะของทรงปรางค์ซึ่งน่าจะมีรูปแบบเหมือนซ้อนทรงสี่เหลี่ยมเรียงลดหลั่นกันขึ้นไป  รูปแบบศิลปกรรมอย่างนี้น่าจะอายุอยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑

          ในบริเวณผิวดินรอบๆ วัดถนนจีนแห่งนี้  ได้พบศิลปวัตถุเป็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่  อยู่ในสภาพชำรุด  ซึ่งหัวหน้านครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาในขณะนั้น[๔]  ได้นำไปเก็บรักษาไว้  ณ  ที่ทำการของหน่วยศิลปากร  เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๓ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปนุ่งห่มดองหรือเฉวียงบ่า  เห็นริ้วรอยของชายผ้าห้อยอยู่ที่พระพาหาซ้าย  สายรัดประคดห้อยอยู่ที่หน้าพระอุทร ๒ สาย  เป็นรูปแบบการนุ่งห่มอย่างพระพุทธรูปจีน  อยู่ในท่าประทับนั่งสมาธิราบ พระหัตถ์แสดงปารมารวิชัย  พบเฉพาะส่วนพระอุระลงมาถึงพระเพลา  ซึ่งเป็นก้อนศิลาเรียงต่อกัน ส่วนพระเศียรหักหายไป  ต่อมาได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จนถึงปัจจุบัน                       

          นอกจากนี้ยังได้พบส่วนของพระอุระถึงบั้นพระองค์  มีลูกประคำห้อยอยู่ที่พระอุระ  รูปแบบพระพุทธรูปนุ่งห่มอย่างจีนนี้ที่จัดเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา  ยังไม่เคยได้พบมาก่อน  ฉะนั้น  การจะกำหนดอายุได้แน่นอนว่าเป็นพุทธศิลปะช่วงใดของสมัยอยุธยา  ต้องอาศัยพิจารณาองค์ประกอบอย่างอื่นเป็นเครื่องช่วยตัดสิน  ถ้าจะอาศัยการพิจารณาจากเนื้อศิลา  หรือวิธีการนำศิลาท่อนมีขนาดต่างๆ กันมาต่อประสานแล้วสลักเป็นพระพุทธรูปก่อนฉาบปูนหรือลงรักปิดทองอย่างพระพุทธรูปที่พบ  ณ วัดถนนจีนนี้  ในสมัยอยุธยาก็นิยมทำกันมาทุกยุคทุกสมัย  นับตั้งแต่ยุคแรกเป็นต้นมา

          หากพิจารณาจากรูปทรงขององค์พระพุทธรูป ซึ่งมีรูปร่างค่อนข้างสูง  นิ้วพระหัตถ์มีลักษณะเหมือนนิ้วมนุษย์  อาจสันนิษฐานได้ในเบื้องต้นว่า  น่าจะอยู่ในสมัยอยุธยาตอนต้น  คือ พุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ เช่นเดียวกัน

          วัดถนนจีนยังไม่ได้รับการขุดแต่ง จึงพบเห็นซากอิฐอยู่บนผิวดินโดยทั่วไป  ซึ่งชาวบ้านแถบนั้นเล่าว่า จะขุดดินเพื่อทำการเพาะปลูกก็ไม่สามารถทำได้  เนื่องจากมีแต่เศษอิฐเต็มไปหมด   ดังนั้นหากโบราณสถานแห่งนี้ได้รับการขุดแต่งบูรณะเมื่อใด  อาจมีข้อมูลอีกมากมายเป็นหลักฐานทางโบราณคดีประวัติศาสตร์ของชาติต่อไป

 

 

* นางสาวก่องแก้ว  วีระประจักษ์    ค้นคว้าเรียบเรียง

[๑] กรมศิลปากร. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓  เรื่องกรุงเก่า (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ

คุณหญิงอุเทนเทพโกสินทร์  ๒๖ มีนาคม ๒๔๙๙). หน้า ๒๐๗

[๒] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา. พิมพ์ครั้งที่ ๖. พระนคร, ห้างหุ้นส่วนศิวพร, ๒๕๑๑. หน้า ๕๔๘

[๓] เรื่องเดิม. หน้า ๕๖๗.

[๔] นายปฏิพัฒน์   พุ่มพงษ์แพทย์     ปัจจุบันหน่วยงานแห่งนี้ใช้ชื่อว่า  สำนักงานศิลปากรที่ ๓  พระนครศรีอยุธยา