ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดขุนเมืองใจ


 

          วัดขุนเมืองใจ เป็นวัดโบราณร้าง  ตั้งอยู่ริมถนนโรจนะ  ใกล้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย  ตำบลประตูชัย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้แล้ว  ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา  เล่ม ๓๘  ตอนที่ ๑๖  วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๔   วัดขุนเมืองใจไม่ปรากฏหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเริ่มสร้างมาแต่สมัยใด  แต่คงมีมาก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา  วัดขุนเมืองใจเป็นวัดที่สำคัญวัดหนึ่ง  ในสมัยอยุธยาเคยใช้เป็นที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา  นอกจากนี้ พบส่วนองค์พระพระพุทธรูปศิลาหลายชิ้นมีทั้งศิลปะทวารวดีตอนปลาย  ศิลปะอู่ทอง หรือระยะก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเล็กน้อย  และศิลปะอยุธยา สืบต่อมาจนร้างไปอย่างสิ้นเชิงตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๑๐

          จากร่องรอยของซากศาสนสถานและสถูป  สามารถศึกษาถึงการวางผังของศาสนสถานในเขตวัดร้างนี้ได้ว่า  สถูปประธานตั้งอยู่กลางระหว่างโบสถ์ซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันิออกและวิหารซึ่งหันหน้าไปทางทิศตะวันตก  ศาสนสถานแต่ละแห่งของวัดขุนเมืองใจ  ที่น่าสนใจมีดังนี้

          สถูปประธาน   สถูปหรือเจดีย์ประธาน  เป็นสถูปขนาดใหญ่  ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง  ขนาดกว้าง ๑๙.๓๐ น.  ก่ออิฐถือปูน  ฐานที่เหลืออยู่แสดงให้เห็นว่าเป็นฐานสูงซ้อนกัน ๒ ชั้น  ฐานแต่ละด้านแบ่งช่องเป็นระยะๆ  ปรากฏร่องรอยของพระพุทธรูปประดับอยู่ที่ฐานทั้งฐานชั้นล่างและชั้นบน ชั้นละองค์  ซึ่งรูปแบบของฐานสถูปนั้นมีลักษณะคล้ายฐานเจดีย์วัดพระแก้ว เมืองสรรค์ (อำเภอสรรคบุรี) จังหวัดชัยนาท  จึงสันนิษฐานว่าอาจเป็นวัดมาก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ใน พ.ศ.๑๘๙๓

          อุโบสถ   รูปสี่เหลี่ยมขนาดยาว ๑๘.๕๐ เมตร  กว้าง ๙ เมตร  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ตัวอุโบสถมีบันไดทางขึ้นด้านหน้าตรงกลางเพียงบันไดเดียว  ด้านในสุดมีฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน  แนวอุโบสถภายในด้านหลังดูคล้ายเป็นห้องเล็กที่สร้างเข้าไปในผนังอุโบสถ  ซึ่งปรักหักพัง เหลือผนังซึ่งก่อด้วยอิฐเพียงบางส่วนเป็นผนังหนาไม่มีเสารับภายใน
          อย่างไรก็ดีได้พบร่องรอยชิ้นส่วนของพระพุทธรูปที่เหลืออยู่ภายในอุโบสถ ๒ แบบ

แบบที่หนึ่ง  เป็นส่วนองค์พระพุทธรูปที่สลักจากหินชีสท์สีเขียว  ศิลปะทวารวดี  พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๕  ซึ่งอาจเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น
แบบที่สอง  เป็นส่วนขององค์พระพุทธรูปที่สลักจากหินทรายสีแดง  รูปแบบของพระพุทธรูปแสดงลักษณะศิลปะอู่ทองหรือศิลปะอยุธยาตอนต้น  ซึ่งมีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐
          บริเวณของอุโบสถมีแนวกำแพงแก้ว  ก่ออิฐถือปูน  ปรักหักพังเหลือร่องรอยเป็นแนวเตี้ยๆ กำแพงยาว ๑๕.๕๐ เมตร  กว้าง ๑๒ เมตร  ที่กำแพงแก้ว ด้านหน้าคือทิศตะวันออก  มีประตู ๒ ประตู  กว้างประตูละ ๑.๕๐ เมตร
          ด้านนอกของกำแพงแก้วรอบอุโบสถ  มีร่องรอยของฐานเจดีย์ขนาดเล็กเรียงรายอยู่โดยรอบ  ด้านทิศเหนือ ๔ องค์  ด้านทิศใต้ ๕ องค์  และด้านทิศตะวันออก ๑ องค์

         วิหาร  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๑๓ เมตร  ยาว ๒๗.๕ เมตร  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ภายในวิหารมีร่องรอยของแนวเสาก่ออิฐเป็นระยะๆ ๘ คู่  เป็นวิหารขนาด ๗ ห้อง  ด้านในสุดทางทิศตะวันตก  มีแนวฐานชุกชีสำหรับประดิษฐานพระประธาน  โดยรอบวิหารนี้มีร่องรอยพระเจดีย์แปดเหลี่ยมเรียงรายไปตามแนวยาวของวิหารด้านละ ๕ องค์ และฐานเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสตั้งอยู่ระหว่างตัววิหารกับสถูปประธาน

         วิหารเล็ก   วิหารอยู่ต่ำจากเนินของซากศาสนสถานหลักทั้ง ๓ แห่งออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ  จากร่องรอยที่เหลือเพียงฐาน  ทำให้เห็นว่าเป็นวิหารขนาดเล็ก กว้าง ๑๐ เมตร  ยาว ๒๐ เมตร  มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงประตูเดียว  ซึ่งมีขนาดกว้าง ๑.๗๐ เมตร  ตัวอาคารก่ออิฐถือปูนตามแบบศิลปะอยุธยา

         สรุป   จากการศึกษาในรูปแบบศิลปสถาปัตยกรรมของทั้งวิหารและอุโบสถที่เหลือร่องรอยทางศิลปะอยู่ในปัจจุบันนี้  เป็นรูปแบบของลักษณะสถาปัตยกรรมอยุธยาตอนต้นหรือก่อนหน้านั้นเล็กน้อย โดยพิจารณาจากแผนผังการสร้าง  ขนาดของแผ่นอิฐ  ตลอดจนถึงลักษณะเนื้อดินของแผ่นอิฐนั่นเอง  ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นไปได้ที่ว่า  บริเวณวัดขุนเมืองใจนี้น่าจะเป็นวัดโบราณที่สร้างมา ๒ ระยะ คือ   สมัยก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา คือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙ และเจริญสืบต่อมา  โดยมีสถูปเป็นศาสนสถานที่สำคัญ  ตามคติการสร้างวัดในสมัยสุโขทัย  สุพรรณภูมิและอยุธยาตอนต้น  หลักฐานที่สำคัญคือ  การขุดค้นพบเครื่องถ้วยสังคโลกของสุโขทัยจากแหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัย  และได้รับการบูรณะซ่อมแซมเรื่อยมา  ดังหลักฐานที่พบเป็นศิลปะอยุธยาตอนกลางและอยุธยาตอนปลาย  เช่น  พระพุทธรูปสำริดขนาดเล็ก  กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องเชิงชาย  เครื่องถ้วยลายครามจีนลายไทย  และเศษภาชนะดินเผาต่างๆ  และมีการสร้างอุโบสถขึ้นใหม่บนฐานศาสนสถานเดิม. 

 

 วิดีทัศน์

วัดขุนเมืองใจ