วัดใหม่ไชยวิชิต
1. ที่ตั้งวัดใหม่ไชยวิชิตในสมัยอยุธยา เป็นส่วนหนึ่งของประราชวังหลวง
วัดใหม่ไชยวิชิตตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยาริมแม่น้ำลพบุรี ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองตำบลท่าวาสุกรี อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริเวณที่วัดใหม่ไชยวิชิตตั้งอยู่นั้นเดิมในสมัยอยุธยา เป็นพื้นที่ชานพระนคร กล่าวคือ เป็นพื้นที่ระหว่างพระราชวังหลวงกับแม่น้ำลพบุรี จะมีแนวถนนโบราณปูด้วยอิฐ ชื่อว่า " ถนนประตูดิน " ซึ่งมีแนวจากป้อมปากท่อขนานไปกับกำแพงพระราชวังมาชนฉนวนน้ำท่าวาสุกรีซึ่งเป็นท่าเรือที่ประทับประจำพระราชวังหลวง1 ดังนั้นการสร้างวัดใหม่ไชยวิชิตจึงสร้างทับบนแนวถนนโบราณ และแนวกำแพงวัดบางส่วนได้สร้างทับกำแพงพระราชวังหลวง "ไชยวิชิต" เป็นราชทินนามของตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
2. "ไชยวิชิต" เป็นราชทินนามของผู้รักษากรุงเก่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงปราบดาภิเษกเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงยกเมืองกรุงเก่าขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวา ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง นายบุนนากแห่งบ้านแม่ลาเป็นผู้รักษากรุงเก่าคนแรก มีบรรดาศักดิ์ถึง "เจ้าพระยา" และมีราชทินนามว่า "ไชยวิชิตสิทธิสงคราม" ต่อมาโปรดให้เจ้าพระยาไชยวิชิตเป็นเจ้าพระยาพลเทพ ไปราชการทัพเมืองปัตตานีภายหลังต้องพระราชอาญาประหารชีวิตในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เนื่องจากถูกซัดทอดว่าร่วมคิดการกบฏกับเจ้าฟ้ากรมกษัตรานุชิต ต่อจากนี้ก็ไม่ปรากฏว่าได้แต่งตั้งใครเป็นผู้รักษากรุงในราชทินนามนี้อีก ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่าต่อมาก็ลดบรรดาศักดิ์เป็นเพียง "พระยา" เท่านั้น ต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนสร้อยราชทินนามนี้เป็น "พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรามหาประเทศราชสุรชาติเสนาบดี" ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้เป็นคนแรกชื่อ "เผือก" ครั้นมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ เปลี่ยนนามผู้รักษากรุงเก่าเป็นพิเศษ 2 ชื่อ คือ เจ้าพระยามหาศิริธรรมพโลปถัมภ์เทพทวาราวดี ศรีรัตนธาดา มหาปเทศาธิบดี อภัยพิริยปรานุกรมพาหุ ผู้สำเร็จราชการกรุงเก่ากับอีกนามหนึ่งคือพระยาสิงหราชฤทธิไกร ยุตินัยเนติธาดามหาปเทศาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ
ผู้รักษากรุงเก่าคนต่อมาก็ได้กลับมาใช้บรรดาศักดิ์และราชทินนาม พระยาไชยวิชิตดังเดิม แต่สร้อยราชทินนามได้เปลี่ยนไปกล่าวคือในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงแต่งตั้งผู้รักษากรุงเก่าตามลำดับคือ พระยาไชยวิชิตสิทธิสาตรามหาปเทศาธิบดี (สิงโต ศกุนะสิงห์) พระยาไชยวิชิตสิทธิศักดามหานคราธิการการ (นาค ณ ป้อมเพชร) และต่อมาในพ.ศ. 2440 พระยาไชยวิชิต (นาค) กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ราชการด้วยทุพลภาพจึงโปรดเกล้าฯให้หลวงอนุรักษ์ภูเบศร์ (พร เดชะคุปต์) เป็นผู้รักษากรุงเก่า จนต่อมาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเป็น "พระยาโบราณบุรานุรักษ์" จนปี พ.ศ. 2449 จึงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลกรุงเก่า5 จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนราชทินนามเป็น "พระยาโบราณราชธานินทร์" หลังจากนั้นตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่ายังคงมีสืบมา หากแต่ราชทินนามและบรรดาศักดิ์ได้รับการปรับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น อย่างไรก็ตามใน พ.ศ. 2467 ยังปรากฏว่าทรงพระราชทานราชทินนาม "ไชยวิชิต" แก่พระยาเพชฎา (ขำ ณ ป้อมเพชร) เป็น "พระยาไชยวิชิตวิศิษฐธรรมธาดา" แต่สร้อยราชทินนามเปลี่ยนไป และครั้งนี้ไม่ใช่ตำแหน่งผู้รักษากรุงเก่าแต่เป็นตำแหน่งในกระทรวงยุติธรรม
3. พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรามหาประเทศราชสุรชาติเสนาบดี ( เผือก )
ไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) มากนักทราบแต่เพียงว่าในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ท่านมีตำแหน่งเป็นจมื่นไวยวรนาถ หัวหน้ามหาดเล็ก และเป็นกวีในราชสำนักร่วมกับสุนทรภู่ด้วยต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น พระยาธิเบศร์บดี จางวางมหาดเล็ก และได้เป็น "พระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรามหาประเทศราชสุรชาติเสนาบดี" ผู้สำเร็จราชการกรุงเก่า8 ซึ่งประวัติส่วนหนึ่งของพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) นั้นสุนทรซึ่งประวัติส่วนหนึ่งของพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) นั้นสุนทรภู่ได้เขียนถึงไว้ในนิราศภูเขาทอง ตอนหนึ่งว่า
"ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง
คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย
แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ
เคยรับราชโองการอ่านฉลอง
จนกฐินสิ้นแม่น้ำในลำคลอง
มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา"
จมื่นไวยคนที่สุนทรภู่กล่าวถึงนั้นเป็นคนเดียวกับพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) ซึ่งเป็นผู้รักษากรุงเก่าขณะที่สุนทรภู่เขียนนิราศภูเขาทอง เพราะว่าเมื่อสุนทรภู่เดินทางมาถึงกรุงเก่า ขณะผ่านพระราชวังหลวง ยังได้เขียนถึง พระยาไชยวิชิต ( เผือก ) อีกครั้งหนึ่งว่า
"พอรอนรอนอ่อนแสงพระสุริยน
ถึงตำบลกรุงเก่ายิ่งเศร้าใจ
มาถึงท่าหน้าจวนจอมผู้รั้ง
คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล
จะแวะหาถ้าท่านเหมือนเมื่อเป็นไวย
ก็จะได้รับนิมนต์ขึ้นบนจวน
แต่ยามยากหากว่าหาท่านแปลก
อกมิแตกเสียหรือเราเขาจะสรวล
เหมือนเข็ญใจไฝ่สูงไม่สมควร
จะต้องม้วนหน้ากลับอัประมาณ"
4. จวนของพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) สร้างอยู่ด้านทิศเหนือของพระราชวังหลวง
สุนทรภู่แต่งนิราศภูเขาทองเมื่อราว พ.ศ. 2371 ซึ่งหากพิจารณาจากเนื้อความในนิราศดังกล่าวทำให้เชื่อได้ว่าในเวลานั้น จวนพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำลพบุรี ด้านทิศเหนือของพระราชวังหลวง คือตำแหน่งที่ตั้งของวัดใหม่ไชยวิชิตในปัจจุบัน เพราะหลังจากสุนทรภู่กล่าวถึงจวนพระยาไชยวิชิตแล้ว ก็ไม่ได้แวะขึ้นหา แต่ได้ล่องเรือเลยขึ้นมาจอดที่ท่าวัดหน้าพระเมรุ ปากคลองสระบัว จนถึง พ.ศ. 2379 อันเป็นปีที่สุนทรภู่แต่งนิราศวัดเจ้าฟ้านั้น พระยาไชยวิชิต ( เผือก ) ยังคงมีชีวิตอยู่ และจวนของท่านก็น่าจะอยู่ที่เดิม ปรากฏว่าครั้งนี้สุนทรภู่ได้แวะหาพระยาไชยวิชิต ดังที่ท่านประพันธ์ไว้ว่า
"จะเลยตรงลงไปวัดก็ขัดข้อง
ไม่มีของขบฉันจังหันหุง
ไปพึ่งบุญคุณพระยารักษากรุง
ท่านบำรุงรักษาพระไม่ละเมิน
ทั้งเพลเช้าคาวหวานสำราญรื่น
ต่างชุ่มชื่นชวนกันสรรเสริญ
ทั้งสูงศักดิ์รักใคร่ให้เจริญ
อายุเกินกัปกัลป์พุทธนดร
ให้ครองกรุงฟุ้งเฟื่องเปรื่องปรากฎ
เกียรติยศอยู่ตลอดอย่าถอดถอน
ท่านอารีมีใจอาลัยวอน
ถึงจากจรจิตใจยังคิดคุณ
มาที่ไรได้นิมนต์ปรนนิบัติ
สารพัดแผ่เผื่อช่วยเกื้อหนุน
ต่างชื่นช่วยอวยกุศลผลบุญ
สนองคุณเจ้าพระยารักษากรุง"
พระยาไชยวิชิต ( เผือก ) ถึงแก่อนิจกรรมในรัชกาลที่ 3 และคงจะเป็นปลายรัชกาล แต่ยังไม่พบหลักฐานว่าเมื่อใดแน่ อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2381 พระยาไชยวิชิต (เผือก) ยังมีชีวิตอยู่เพราะในปีนี้ท่านได้วิหารน้อย ( พระวิหารสรรเพชญ์ หรือ วิหารเขียน ) ที่วัดหน้าพระเมรุ เพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวารวดี ซึ่งพระยาไชยวิชิตให้ย้ายมาจากวัดมหาธาตุ (เนื้อความในจารึกแผ่นที่ 3 ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย วัดหน้าพระเมรุ ) อย่างไรก็ตามพระยาไชยวิชิต ( เผือก ) จะต้องถึงอนิจกรรมก่อน พ.ศ. 2394 เนื่องจากเป็นปีสุดท้ายในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนั้นปีที่พระยาไชยวิชิต ( เผือก ) ถึงแก่อนิจกรรม น่าจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2381 - 2394
5. สร้างวัดใหม่ไชยวิชิต ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
สำหรับวัดใหม่ไชยวิชิตนั้นทราบแต่เพียงว่าสร้างในรัชการที่ 3 ยังไม่พบหลักฐานว่าสร้างในศักราชใด แต่วัดนี้ตั้งอยู่ในบริเวณ ที่เคยเป็นจวนของพระยาไชยวิชิต (เผือก) สันนิษฐานว่าในตอนปลายรัชกาลที่ 3 พระยาไชยวิชิตอาจจะย้ายจวนไปไปสร้างที่อื่น แล้วยกที่จวนเดิมสร้างเป็นวัด หรืออาจจะเป็นไปได้ว่าภายหลังอนิจกรรมของพระยาไชยวิชิต (เผือก) แล้วบรรดาญาติพี่น้องได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระยาไชยวิชิต (เผือก) ก็ได้สันนิษฐานว่าระยะเวลาก่อสร้างวัดใหม่ไชยวิชิตอาจจะอยู่ระหว่าง พ.ศ. 2381 - 2394 ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สันนิษฐานว่าพระยาไชยวิชิต (เผือก) ถึงแก่อนิจกรรมอย่างไรก็ตามการตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดใหม่ไชยวิชิต" ย่อมบ่งบอกว่าเป็นวัดสร้างใหม่ และเกี่ยวข้องกับพระยาไชยวิชิตอย่างแน่นอน
อนึ่งตำแหน่งวัดใหม่ไชยวิชิตปรากฎในแผนที่โบราณแสดงที่ตั้งพระนครศรีอยุธยา ซึ่งเชื่อกันว่าเขียนขึ้นราว ๆ รัชกาลที่ 3 โดยใช้ชื่อว่า "วัดใหม่" เช่นเดียวกัน
6. สิ่งสำคัญของวัดไชยวิชิตคือพระอุโบสถและเจดีย์
วัดใหม่ไชยวิชิตสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระอุโบสถเป็นประธานของวัดและเจดีย์ 1 องค์สร้างไว้ด้านหน้า โดยมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งมีประตูทางเข้า - ออก 3 ประตู คือด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และตะวันตก
7. พระอุโบสถวัดใหม่ไชยวิชิตสร้างแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3
ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระอุโบสถวัดใหม่ไชยวิชิต เป็นแบบพระราชนิยมรัชกาลที่ 3 กล่าวคือ เป็นสถาปัตยกรรมที่มีอิทธิพลศิลปะจีน หรือบางครั้งเรียกกันว่าทรงแบบจีน พระอุโบสถตั้งอยู่บนฐานยกระดับ มีระเบียงรอบตัวพระอุโบสถ มีเสาพาไลสี่เหลี่ยมใหญ่รองรับชายคาโดยรอบโดยไม่มีทวยมารับที่ปลายเต้า ลักษณะหน้าจั่วทำแบบเรียบง่าย ก่อปูนทึบ ไม่มีไขราหน้าจั่ว และไม่ทำเครื่องลำยองหลังคามุงกระเบื้องเรียบ
ตัวพระอุโบสถยาว 5 ห้องเจาะช่องหน้าต่างรูปสี่เหลี่ยมประจำทุกห้อง ประตูทางเข้าอยู่ที่ผนังหุ้มกล่องด้านละ 2 ประตู และที่กรอบประตู หน้าต่างนั้นประดับลวดลายปูนปั้นประเภทลายดอกไม้และเครือเถาประดับกระจกสีเขียว และขาว
บานประตูหน้าต่างทำด้วยไม้ เขียนลายรดน้ำรูปเทพพนมทุกบาน ซึ่งงานที่ปรากฏในปัจจุบันเป็นผีมือของ อ.สุนทรพิทักษ์เขียนขึ้นระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม พ.ศ. 2500
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งของการก่อสร้างในรัชกลที่ 3 คือนิยมทำงานปูนปั้นประดับไวที่หน้าบัน และมักประดับด้วยเครื่องถ้วยหรือชิ้นส่วนของเครื่องถ้วย ซึ่งเคยมีอยู่ที่หน้าบันพระอุโบสถวัดใหม่ไชยวิชิตด้วยทั้งนี้ดูได้จากภาพถ่ายเก่า ครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชเจ้า ณ พลับพลาตรีมุขในพระราชวังโบราณ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2496 ซึ่งขณะนั้นโครงหลังคาของพระอุโบสถได้หักพังลงแล้ว แต่ยังเห็นว่าที่หน้าบันยังเห็นร่องรอยของงานปูนปั้นประดับอยู่ แต่ภายหลังเมื่อมีการปฏิสังขรณ์ใหม่แล้วไม่ได้รักษางานปูนปั้นนั้นไว้
อย่างไรก็ตามการก่อสร้างพระอุโบสถวัดใหม่ไชยวิชิตได้ก่อสร้างตามแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งสามารถเทียบได้กับพระอุโบสถวัดเทพธิดาราม ซึ่งรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างพระราชทานพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ10
8. เจดีย์วัดใหม่ไชยวิชิต เป็นแบบย่อมุมไม้สิบสองที่นิยมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
เจดีย์วัดใหม่ไชยวิชิตสร้างไว้ทางด้านหน้าของพระอุโบสถ เป็นเจดีย์แบบย่อมุมไม้สิบสอง สร้างอยู่บนฐานยกระดับซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป จำนวน 4 ชั้น โดยบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศเหนือ ฐานยกระดับชั้นล่างสุดเป็นฐานกลม ต่อด้วยฐานสี่เหลี่ยม อีก 3 ชั้น จนถึงลานชั้นบนสุด คือที่ตั้งขององค์เจดีย์ เจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง คือเจดีย์ที่มีทรงระฆังสี่เหลี่ยมย่อมุมนับรวมกันได้สิบสองมุมเป็นส่วนสำคัญ11 องค์เจดีย์ส่วนล่างทำเป็นฐานสิงห์ซ้อนกัน 3 ฐาน รองรับทรงระฆัง ต่อด้วยบัลลังก์ ปล้องไฉน และปลีซึ่งหักพังไปแล้ว
ลักษณะสำคัญของเจดีย์แบบนี้คือชุดฐานสิงห์ ซ้อนกัน 3 ฐาน ยัวคลุ่มที่รองรับทรงระฆัง และปล้องไฉนซึ่งทำเป็นบัวคลุ่มเถา มีวิวัฒนาการมายาวนานในศิลปอยุธยา นับตั้งแต่ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมาและเป็นแรงบันดาลใจอย่างสำคัญต่อการสร้างเจดีย์แบบย่อมุมในสมัยรัตนโกสินทร์12 ดังเช่นเจดีย์บางองค์ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และวัดพระเชตุพน เป็นต้น
9. จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซ่อมโบสถ์วัดใหม่ไชยวิชิต
การสร้างวัดใหม่ไชยวิชิตในรัชกาลที่ 3 นั้นมีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ด้วย เพราะปรากฎซากอาคารก่ออิฐที่สันนิษฐานว่า เป็นกุฏิสงฆ์สร้างอยู่ทางทิศเหนือของพระอุโบสถ มาในรัชกาลที่ 4 วัดใหม่ไชยวิชิตเป็นวัดหนึ่งที่ปรากฎในบัญชีรายชื่อวัดในกรุงเก่าที่พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จทอดกฐิน13 แต่ไม่ทราบว่าวัดใหม่ไชยวิชิตเป็นวัดร้างมาตั้งแต่เมื่อใดแม้แต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับบริเวณนี้อย่างมาก ทั้งการขุดแต่งในพระราชวังหลวง การจัดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก แต่ก็มีเอกสารกล่าวถึงวัดนี้อย่างจำกัด
ต่อมามีหลักฐานในภาพถ่ายเก่า คราวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีบวงสรวงสังเวยสมเด็จพระบูรพมหากัษตราธิราชเจ้า ณ พลับพลาตรีมุขในพระราชวังโบราณ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 ว่าองค์เจดีย์วัดใหม่ไชยวิชิตยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ส่วนพระอุโบสถนั้นเครื่องบนหักพังลงมาแล้วในระยะนี้วัดใหม่ไชยวิชิตเป็นวัดร้าง
ในปี พ.ศ. 2499 พณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ได้ริเริ่มการฟื้นฟูบูรณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้สมกัลบที่เคยเป็นราชธานีอันรุ่งโรจน์มาแต่ก่อน และคณะรัฐมนครีได้มีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2499 ดังนั้นโบราณสถาน และสาธารณูปโภค สาธารณูปการต่าง ๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงได้รับการบูรณะฟื้นฟูอย่างมาก
พระอุโบสถวัดใหม่ไชยวิชิตซึ่งเครื่องบนได้ชำรุดหักพังได้รับการปฏิสังขรณ์ มีการก่อสร้างกุฏิสงฆ์ขึ้นใหม่ แล้วนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาจำพรรษา เพื่อจะได้บำรุงพระอารามสืบไป14
การบูรณะในครั้งนี้เครื่องบนคงจะปฏิสังขรณ์ตามแบบเดิม ส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ ไม่ได้ซ่อมงานปูนปั้นที่หน้าบัน ตามหลักฐานที่ปรากฎในภาพถ่ายเก่า ครั้ง พ.ศ. 2496 ส่วนบานประตู หน้าต่างนั้นเขียนลายรดน้ำเป็นรูปเทพพนมใหม่ทั้งหมด ช่างผู้เขียนในครั้งนี้คือ อ.สุนทรพิทักษ์ โดยท่านได้เขียนระหว่างเดือนมกราคม ถึงมีนาคม พ.ศ. 2500 และจารึกชื่อไว้ที่บานประตูหน้าต่างทุกบาน
ที่ฝ้าเพดานมีภาพจิตรกรรมเขียนเป็นลายพื้น คือลายรูปหงส์อยู่ภายในวงกลมแวดล้อมด้วยลายดอกไม้ร่วง และสัตว์ปีก เช่น นกและค้างคาว เป็นต้น งานจิตรกรรมดังกล่าวเป็นงานครั้ง พ.ศ. 2500 เช่นเดียวกัน
นอกจากนี้แนวกำแพงของวัดซึ่งเคยล้อมรอบเจดีย์และอุโบสถเข้าด้วยกันโดยมีทางเข้าทั้ง 4 ด้าน ก็ถูกแก้ไข โดยก่อแนวใหม่ให้ล้อมเพียงอุโบสถเท่านั้น แนวกำแพงที่ก่อใหม่ด้านทิศตะวันออกจึงค่อนข้างเบียดกับฐานเจดีย์ จึงไม่มีประตูทางเข้าที่ด้านนี้
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม วัดใหม่ไชยวิชิตสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก พระอุโบสถเป็นประธานของวัดและเจดีย์ 1 องค์สร้างไว้ด้านหน้า โดยมีกำแพงแก้วล้อมรอบ ซึ่งมีประตูทางเข้า - ออก 3 ประตู คือด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และตะวันตก