ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดราชบูรณะ


 

          ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดมหาธาตุ มีฐานะเป็นพระอารามหลวงในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาระบุว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) โปรดฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1967 ณ ที่ถวายพระเพลิงพระศพเจ้าอ้ายพระยา และเจ้ายี่พระยา ผู้เป็นพระเชษฐาทั้ง 2 พระองค์ ที่ทรงทำยุทธหัตถีแย่งชิงราชสมบัติกันจนสิ้นพระชนม์พร้อมกันทั้งสองพระองค์ ส่วนบริเวณที่สิ้นพระชนม์ก็ก่อเจดีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ขึ้น 2 องค์ เรียกว่าเจดีย์เจ้าอ้ายเจ้ายี่ อยู่บริเวณเชิงสะพานป่าถ่านในสมัยกรุงศรีอยุธยาหรือทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของวัดราชบูรณะในปัจจุบัน

          ภายในวัดประกอบด้วยองค์ปรางค์ประธานซึ่งล้อมรอบด้วยระเบียงคด มีพระวิหารตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออก ส่วนพระอุโบสถตั้งอยู่ทางด้านหลังของวัดทางทิศตะวันตกในแนวประธานเดียวกัน ภายในกรุปรางค์จะมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นอิทธิพลศิลปะจีนแสดงภาพพระอดีตพุทธ

          ในปี พ.ศ. 2499 ขณะที่กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งภายในวัดมหาธาตุคนร้ายได้ลักลอบขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานวัดราชบูรณะได้ของมีค่าจำนวนมาก กรมศิลปากรจึงดำเนินการขุดกรุในองค์ปรางค์ประธานอีกครั้งพบเครื่องราชูปโภคซึ่งทำด้วยทองคำ พระพิมพ์แบบต่างๆ และของมีค่าอื่นๆ เป็นจำนวนมาก แต่พระพิมพ์ส่วนหนึ่งนั้น กรมศิลปากรได้เปิดให้ประชาชนเช่าไปบูชาเพื่อนำเงินส่วนหนึ่งมาสร้างพิพิธฑภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา และนำสิ่งของที่ได้จากกรุมาเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ขุดแต่งทำบันไดให้ประชาชนสามารถลงไปชมภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยาตอนต้นภายในกรุได้ด้วย

 

 

 วิดีทัศน์

วัดราชบูรณะ ๑

เครื่องทองวัดราชบูรณะ