ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดญาณเสน


 


          

          วัดญาณเสน เป็นวัดโบราณสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะเมืองใกล้กับช่องมหาเถรไม้แช  ซึ่งเป็นทางน้ำ  ชักน้ำจากแม่น้ำลพบุรีเข้าไปยังบึงพระราม  ทางน้ำนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คลองน้ำเชี่ยว  บริเวณดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่ของชนชาวมอญ  วัดญาณเสนไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง  ปัจจุบันตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง  เขตตำบลท่าวาสุกรี  อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และยังเป็นวัดที่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษาอยู่จนถึงปัจจุบัน  สำนักโบราณคดี กรมศิลปากรได้กำหนดให้วัดญาณเสนเป็นแหล่งโบราณสถานของชาติ  ในเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา  และได้ประกาศขึ้นทะเบียนในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๕๘ ตอนที่ ๑๖  วันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๔๘๔

          ปรากฏหลักฐานตามตำนานว่า  เดิมวัดญาณเสนนี้ชื่อว่า  วัดยานุเสน  ในสมัยอยุธยา มีตึกพระคลังสำหรับใส่บาศช้างและเชือกอยู่ที่ริมวัดแห่งนี้  และว่า  “มีรางอยู่ถัดหน้าวัดญาณเสนไปรางหนึ่ง  ทะลุเข้าไปจากรากกำแพงด้านเหนือ  ชาวบ้านเรียกว่า  คลองน้ำเชี่ยว  ว่าแต่ก่อนเมื่อถึงหน้าน้ำ น้ำไหลเข้าทางรางนั้นเชี่ยวจัด  ไปลงบึงพระราม  เห็นว่าน่าจะเป็นรางนี้เองที่เรียกว่าช่องมหาเถรไม้แช่  คือ เป็นที่ไขเอาน้ำทางแม่น้ำข้างเหนือเข้าไปในบึงพระราม  เดิมคงจะมีช่องให้น้ำลอดใต้รากกำแพงเข้าไป  และมีช่องให้น้ำไหลลอดถนนป่าตะกั่วไปตกคลองข้างในไหลลงบึงพระราม  ข้างด้านใต้บึงพระรามก็มีคลองลงไปออกประตูเทพหมี  ออกแม่น้ำใหญ่ทางใต้ได้เหมือนกัน  นี้คือวิธีถ่ายน้ำไปในบึงพระรามให้สะอาด  ในแผนที่ของพวกฝรั่งเศสเขาเขียนเป็นคลองต่อพ้นแนวถนนป่าตะกั่วออกไป  ตั้งแต่ข้างถนนจนกำแพงเมืองเป็นพื้นทึบ  คงก่อช่องมุดลอดไป  รางปากช่องคงเกิดขึ้นภายหลังเมื่อรื้อกำแพง แต่เดี๋ยวนี้ได้ถมเสียเป็นพื้นดินเชื่อมกับถนนแล้ว”

         วัดญาณเสนมีสถาปัตยกรรมที่จัดเป็นโบราณสถาน คือ  เจดีย์และอุโบสถ โดยเฉพาะเจดีย์  กรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งและบูรณะแล้วตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๗ และในการขุดแต่งครั้งนั้น ได้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายชิ้น  ที่สำคัญคือแผ่นทองคำรูปสัตว์ต่างๆ จัดเป็นศิลปกรรมสมัยอยุธยา รวมทั้งพระพุทธรูปสัมฤทธิ์  ซึ่งพบทั้งที่เป็นของสมัยลพบุรีและสมัยอยุธยา  ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

         ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๔๔  กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง  เนื่องจากอยู่ในสภาพรกร้างมีดินและวัชพืชปกคลุมอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก  ในครั้งนี้พบโบราณวัตถุและศิลปวัตถุหลายประเภท  อาทิ  รูปเคารพทางศาสนา เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ  ภาชนะดินเผา  เป็นต้น  และพบว่ามีการก่อสร้างเพิ่มเติมและพอกทับโดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบเจดีย์ประธานและก่อสร้างเจดีย์รายเพิ่มเติมอีกด้วย

 

          โบราณสถานที่สำคัญ 

          เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ลักษณะเป็นเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสองที่ด้านทั้งสี่ออกเก็จรับมุขทิศทั้งสี่    ฐานเจดีย์เป็นฐานประทักษิณ ลักษณะเป็นฐานสี่เหลี่ยมไม่ย่อมุม  มีความกว้างด้านละประมาณ ๒๔ เมตร  ทำเป็นชุดฐานบัวลูกแก้วอกไก่คู่  โดยฐานหน้ากระดานล่างแผ่ยื่นออกมาจากชั้นบัวคว่ำประมาณ ๑ เมตร  ความสูงตั้งแต่ฐานถึงยอดเจดีย์ประมาณ ๓๔.๕ เมตร  ฐานเจดีย์พังทลายลงเป็นบางช่วง  บริเวณมุมบนฐานประทักษิณ  มีการประดิษฐานเจดีย์มุมโดยตั้งอยู่บนมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้  ตะวันตกเฉียงเหนือ  และตะวันตกเฉียงใต้  ส่วนมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือพังทลายลงหมดไม่เหลือสภาพให้เห็น
          มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านทิศตะวันออกขึ้นสู่ลานประทักษิณและห้องมุข  ภายในมุขทำเป็นช่องทางเดินเข้าสู่ครรภคูหา (ห้องภายในองค์เจดีย์)  ครรภคูหามีลักษณะเป็นห้องสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ขนาด ๒.๘๐ x ๒.๗๒  เมตร  ด้านบนก่ออิฐเป็นลักษณะสามเหลี่ยมสอบขึ้นไป  พื้นกลางห้องมีช่องสี่เหลี่ยม ขนาด ๕๐ x ๕๕ เซนติเมตรลึกลงไป  ผนังของห้อง ๓ ด้าน  ได้แก่ด้านทิศตะวันออก  ทิศตะวันตก และทิศใต้  มีช่องรูปเครื่องหมายบวกด้านละ ๑ ช่อง
          ส่วนซุ้มในด้านตะวันตก  ด้านเหนือและด้านใต้มีลักษณะเหมือนกัน คือภายในกรอบก่อทึบ  สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะมีการประดับด้วยปูนปั้น
          ถัดขึ้นไปจากชุดฐานบัวชุดบนสุดเป็นส่วนขององค์ระฆังย่อมุม  บัลลังก์ย่อมุม  ก้านฉัตรไม่มีเสาหาน  แต่กลับทำทรงบัวหงายซ้อนด้วยบัวคว่ำที่ยื่นออกจากก้านฉัตรเพื่อรองรับปล้องไฉน  ลักษณะเช่นนี้เป็นรูปแบบที่แตกต่างจากเจดีย์อื่นโดยทั่วไป  ส่วนยอดของปล้องไฉนยังคงปรากฏเหล็กเป็นแกนอยู่ด้านใน
          นอกจากนี้ยังมีเจดีย์ราย ตั้งอยู่โดยรอบเจดีย์ประธานอีกจำนวน ๕ องค์  ทางทิศตะวันออก  ๔ องค์ และทิศตะวันตกอีก ๑ องค์  ส่วนใหญ่อยู่ในสภาพพังทลาย  คงเหลือเพียงองค์เดียวที่ยังมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์และเห็นรูปแบบสถาปัตยกรรมชัดเจน  และยังพบแนวกำแพงวัดทางทิศใต้  ส่วนบนพังทลายลงแทบทั้งหมด

          อุโบสถ  ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของเจดีย์ประธาน แต่อุโบสถหลังเดิมได้ชำรุดปรักหักพังไปหมดแล้ว  ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๔๘๗  ทางวัดสร้างขึ้นใหม่บนฐานรากเดิม  โครงร่างตอนล่างของอุโบสถจึงยังคงมีเค้าของศิลปกรรมสมัยอยุธยาให้เห็นอยู่บ้าง  โดยเฉพาะรูปทรงฐานอุโบสถยังคงทำให้มีลักษณะโค้งแบบท้องสำเภา  รวมทั้งผนังทำเป็นลูกกรงช่องแสงแทนช่องหน้าต่าง  ซึ่งเป็นลักษณะการเลียนแบบสถาปัตยกรรมสมัยอยุธยา  ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่สมัยรัตนโกสินทร์  เหนือช่องแสงมีซุ้มพระทำเป็นซุ้มสามเหลี่ยมลึกเข้าไปในผนัง  ในซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดเล็กปางต่างๆ แต่มีไม่ครบทุกซุ้ม

          นอกจากส่วนโบราณสถานที่กล่าวแล้ว  วัดญาณเสนยังประกอบด้วยเสนาสนะ  กุฎิสงฆ์  เป็นสัดส่วนอยู่อีกด้านหนึ่งด้วย