ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา

วัดเจ้าพราหมณ์


 

          วัดเจ้าพราหมณ์  หรือ วัดพราหมณ์  ตั้งอยู่ในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์  ตำบลประตูชัย   อำเภอพระนครศรีอยุธยา  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยเกษตรกรรม  ได้เคยถูกปรับที่ปลูกสวนทดลองของนักเรียนมาแล้ว  ต่อมาได้มีการปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นสวนสมเด็จ   ขุดลอกคูคลองเดิมใกล้ๆ บริเวณวัด  ซึ่งติดกับถนนเหล็กหรือถนนตลาดเหล็ก  พบเบ้าโลหะขนาดต่างๆ ตกเกลื่อนกลาด  และมีคลองฉะไกรใหญ่ (ปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่าคลองท่อ) ผ่านด้านหน้าวัด ในหนังสือประชุมพงศาวดาร เล่ม ๓๗ เรื่องกรุงเก่า (ต่อ) หน้า ๒๐๑  กล่าวว่า  “คลองปตูปากท่อ  ตรงมาออกประตูฉะไกรใหญ่  มีตะพานไม้ชื่อตะพานขุนโลก  ๑  มีตะพานไม้ตรงถนนวัดขวิด (วัดเจ้าพราหมณ์) ข้ามไปวัดกุฎีฉลัก ๑  (วัดส้ม)”  ปัจจุบันนี้ยังแลเห็นแนวลำคลองฉะไกรใหญ่ในบางส่วนอยู่

          สำนักโบราณคดี  กรมศิลปากร ได้ดำเนินการขุดสำรวจบริเวณวัดโดยรอบนี้เมื่อประมาณ ต้นปี พ.ศ.๒๕๓๔ ในบริเวณแนววิหารเดิมด้านทิศใต้พบชิ้นส่วนต้นพระพาหาด้านซ้ายของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี  ทำด้วยหิน  เหลืออยู่ยาวประมาณ ๒๑.๕ เซนติเมตร  กว้างประมาณ  ๑๓.๕ เซนติเมตร  บนท่อนพระพาหาสลักรูปพระพุทธรูปปางสมาธิ  ซ้อนกันเป็นชั้นเห็นอยู่ ๔ ชั้น  เป็นศิลปะลพบุรี  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลักษณะคล้ายกับพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมี  พบที่ปราสาทเมืองสิงห์  จังหวัดกาญจนบุรี  ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร  และพระโพธิสัตว์อวโลกิเตเศวรเปล่งรัศมี  พบที่โกสินารายณ์  อำเภอบ้านโป่ง  จังหวัดราชบุรี    ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ราชบุรี  จังหวัดราชบุรี  นอกจากนี้ยังได้พบประติมากรรมสำริดรูปพระลักษมี ที่บริเวณด้านหน้าองค์ปรางค์  ขนาดสูง ๕.๙ เซนติเมตร  ฐานกว้าง ๒ เซนติเมตร  ศิลปะอินเดียใต้  สมัยราชวงศ์โจฬะ  อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๑๙  ประทับยืนแบบตริภังค์  (เอียงสะโพกซ้าย)  อยู่บนฐานบัวรองรับด้วยฐานสี่เหลี่ยม  พระกรซ้ายห้อยชิดพระองค์  พระกรขวาถือดอกบัวชูขึ้น  นุ่งพัสตราภรณ์ห้อยหน้าปล่อยชายออก ๒ ข้าง  และขมวดที่ชายพกปล่อยทิ้งชายไว้ด้านขวามือ  อาภรณ์ประดับคาดกลางพระอุระ  ต้นพระพาหา  และข้อพระกร  ใส่กุณฑลเป็นตุ้มใหญ่  เกล้าเกศาสูงรัดเกล้าคล้ายบัวสี่กลีบ  ด้านหลังรัดเป็นจุก  ประติมากรรมชิ้นนี้สวยงามมาก  และบริเวณใกล้เคียงกันยังได้พบกำไลสำริด ๑ คู่  ทำเป็นรูปงูอ้าปากตามลำตัวเป็นเกล็ด  เป็นกำไลขนาดเล็กน่าจะเป็นกำไลสำหรับเด็ก  โบราณวัตถุทั้ง ๓ ชิ้นเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จันทรเกษม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา   ต่อมากรมศิลปากรได้ทำการขุดแต่งบูรณะโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๑

          โบราณสถานที่สำคัญของวัดเจ้าพราหมณ์ที่ยังเหลืออยู่  คือปรางค์ที่กล่าวมาข้างต้น  ฐานที่ก่ออิฐเรียงอยู่บนแนวฐานล่างซึ่งก่อด้วยศิลาแลง  ลวดลายปูนปั้นติดอยู่ที่ซุ้มชั้นบนของซุ้มทางเข้าด้านหน้าของปรางค์   สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น ลักษณะของชิ้นส่วนปูนปั้นบ่งชี้ว่าเป็นงานสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเช่นกัน  โดยอาจเทียบรูปแบบได้กับลวดลายปูนปั้นประดับปรางค์ในสมัยนั้นเช่นปรางค์วัดส้ม

          เดิมวัดเจ้าพราหมณ์อาจเป็นศาสนสถานฮินดู  อย่างไรก็ดีภายในคูหาปรางค์ได้พบชิ้นส่วนพระหัตถ์ทำด้วยปูนปั้น  ลักษณะของชิ้นส่วนที่พบนี้ควรเป็นพระหัตถ์ของพระพุทธรูป  ดังนั้นจึงเชื่อว่า   หากปรางค์แห่งนี้สร้างให้เป็นเทวสถานก็คงแปลงเป็นพุทธสถานในภายหลัง   และไม่พบชิ้นส่วนพระพุทธรูปหรืออื่นใดนอกจากนี้เลย อาจเป็นเพราะได้ถูกรื้อพื้นที่เพื่อปรับเป็นที่ทำการเกษตรกรรมเมื่อครั้งวิทยาลัยเกษตรกรรมตั้งอยู่จนไม่มีอะไรเหลือไว้อีก  แต่จากการขุดค้นของสำนักโบราณคดีที่พบวัตถุทั้ง ๓ ชิ้น ทำให้พอจะสันนิษฐานได้ว่า วัดเจ้าพราหมณ์เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนต้น หรืออาจจะมีอายุเก่าขึ้นไปถึงสมัยก่อนพระนครศรีอยุธยาเป็นราชธานีก็เป็นได้

          กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดเจ้าพราหมณ์  เป็นโบราณสถานสำคัญสำหรับชาติ  โดยประกาศลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๖๐  ตอนที่ ๕๙  วันที่ ๒๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖