วัดเจ้าปราบ
วัดเจ้าปราบ เป็นวัดโบราณที่สำคัญวัดหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งอยู่ริมถนนอู่ทอง ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นวัดร้างไม่พบหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง ในตำราแบบธรรมเนียมในราชสำนักครั้งกรุงศรีอยุธยาตอนตำราหน้าที่ตำรวจได้กล่าวถึงวัดเจ้าปราบว่า “ถ้าเสด็จไปทอดพระเนตรการวัดวาอารามในกรุงนอกกรุง ถ้าในกรุง ดุจหนึ่งไปวัดเจ้าปราบนั้น (ทรง) พระเสลี่ยงไป” คำว่า “เจ้าปราบ” จึงน่าจะเป็นชื่อสำคัญในสมัยนั้น ในจดหมายเหตุการพระศพสมเด็จพระรูป (สมเด็จเจ้าฟ้าสุดาวดี กรมหลวงโยธาเทพ พระราชธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มเหสีฝ่ายซ้ายของสมเด็จพระเพทราชา ขณะสิ้นพระชนม์ทรงผนวชเป็นชี ในจดหมายเหตุจึงเรียกพระรูป สิ้นพระชนม์เมื่อจุลศักราช ๑๐๙๗ ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) กล่าวว่า “ครั้นถึงฉนวนประทับเรือ ณ ท่าปราบ แล้วจึงทรงสั่งให้เชิญสมเด็จพระบรมศพขึ้นจากเรือพระที่นั่ง แล้วแลเรือพระที่นั่งซึ่งล้นเกล้าฯ ทรงมานั้นถอยหลังลงประทับ ณ ขนานประจำท่าพระราชวังหลวง แลขุนทิพภัยชนคุมพระราชยานทองลงไปรับเสด็จฯ จึงเชิญเครื่องสิบแปดอย่างกลางแห่เสด็จไปหน้าจวนทหารใน ไปเข้าประตูท่าปราบตามเสด็จพระบรมศพถึงพระที่นั่งจักรวรรดิ์ภัยชนมหาปราสาท”
อาณาบริเวณของวัดเจ้าปราบกว้างขวาง มีโบราณสถานสำคัญคือพระเจดีย์ พระอุโบสถ และพระมณฑป ติดกับกำแพงวัดด้านตะวันออกเฉียงใต้มีแนวรากฐานของคลังดีบุก ดีบุกนั้นเป็นส่วยอย่างหนึ่งของบ้านเมืองที่เป็นของหายาก ในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศได้จัดเป็นสินค้าควบคุม ดังในหนังสือสัญญาไทยฝรั่งเศส ครั้งสมเด็จพระนารายณ์ ความว่า “ประการหนึ่ง ถ้าแลกุมบัญชีต้องการซื้อดีบุก ณ เมืองถลางบางคลี แลงาช้างแลช้างแลดินประสิวขาว ดีบุกดำ หมากกรอก ฝาง ก็ให้ชาวคลังขายให้แต่ตามราคาซื้อขายแก่ลูกค้าทั้งปวง แลอย่าให้กุมบัญชีซื้อขายสินค้ามีชื่อทั้งนี้แก่ลูกค้าซึ่งมิได้ซื้อแก่ชาวคลังนั้นเลย ด้วยสินค้าเป็นส่วยสาอากรของหลวงแลห้ามมิให้ผู้ใดขายนอกจากชาวคลังนั้นเลย” ข้อความที่กล่าวมาข้างต้นพอจะเป็นข้ออนุมานได้ว่า บริเวณวัดเจ้าปราบนั้นตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตรงกันข้ามกับวัดพุทไธสวรรย์ เป็นพื้นที่สำคัญอยู่ใกล้กับคลังดีบุก และอยู่ใกล้กับถนนเหล็ก หรือถนนตลาดเหล็กโบราณซึ่งเป็นถนนปูด้วยอิฐหนาประมาณ ๘๕ เซนติเมตร ตามประวัติว่ายาวประมาณ ๑ กิโลเมตร มีคูน้ำสองข้างตลอดแนวถนน คงเป็นคูที่เกิดจากการขุดดินขึ้นมาถมถนน ผู้สร้างวัดคงเป็นเจ้านายที่มีหน้าที่สำคัญในการป้องกันบ้านเมือง อาจมีหน้าที่ควบคุมการสร้างอาวุธด้วย จึงมีตำแหน่งเป็นเจ้าปราบ
ทางด้านทิศใต้ของบริเวณวัดมีเจดีย์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ประธานของวัดและรากฐานอุโบสถ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ผนังด้านในของกำแพงแก้วทำเป็นช่องสามเหลี่ยมคล้ายๆ กับกำแพงแก้วด้านในรอบพระปรางค์ ที่วัดพระมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สันนิษฐานว่าเป็นช่องที่ใส่ชวาลาในวันงานเทศกาล มีบันไดทางขึ้นฐานประทักษิณด้านทิศเหนือและทิศใต้ด้านละ ๒ ทาง
อุโบสถหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูทางเข้าด้านหน้า ๓ ประตู ด้านหลัง ๒ ประตู ภายในมีฐานรากของเสากลมสำหรับรองรับหลังคาอุโบสถ ด้านหลังอุโบสถทำเป็นมุขยื่นออกไป มีฐานรากของเสารองรับหลังคาเหลืออยู่ หลังคาอุโบสถมุงด้วยกระเบื้องกาบกล้วย มีกระเบื้องเชิงชายเป็นลายเทพพนม เช่นเดียวกับที่พบตามวัดเก่าๆ ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีฐานสำหรับตั้งใบเสมารอบอุโบสถ ๘ ทิศ ใบเสมาหินที่พบในวัดนี้มีลวดลายคล้ายลายใบเสมาหินที่พบในวัดไชยวัฒนาราม
เจดีย์องค์ใหญ่ซึ่งเป็นเจดีย์ประธานอยู่หลังอุโบสถบนฐานประทักษิณเดียวกัน เป็นเจดีย์กลมทรงระฆัง ฐานแปดเหลี่ยม องค์เดิมชำรุดเหลือเพียงองค์ะฆัง กรมศิลปากรได้นำชิ้นส่วนที่พังทลายลงมาประกอบกันขึ้นและซ่อมเสริมเป็นองค์เจดีย์สมบูรณ์ที่เห็นกันอยู่ปัจจุบันนี้
ทางด้านทิศเหนือของวัด มีมณฑปทรงจัตุรมุขตั้งอยู่บนฐานประทักษิณสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้สิบสอง มีทางขึ้นตรงชาลาทั้ง ๔ ทิศ มุขทางด้านทิศเหนือและทิศใต้สั้น มุขทางด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกยื่นออกไปรับกับส่วนของฐานประทักษิณ นายคงเดช ประพัฒน์ทอง ได้ให้ความคิดเห็นไว้ในรายงานการขุดแต่งวัดเจ้าปราบซึ่งพิมพ์ลงในหนังสือโบราณคดีว่า “แต่เดิมมณฑปจัตุรมุขนี้น่าจะเป็นจัตุรมุขแบบสี่ทิศเท่ากัน ต่อมาได้เกิดความคิดว่า ดูขัดกันกับฐานทักษิณที่ทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อมุมไม้ จึงแก้ไขมุขตะวันออกและมุขตะวันตกให้ยื่นยาวออกไปรับกัน แต่การแก้ไขครั้งนั้นคงทำขึ้นในระยะเวลาที่ไม่ห่างกัน เพราะเหตุว่าแผ่นอิฐที่ใช้มีขนาดเท่ากัน การเพิ่มเติมคงจะรีบเร่งหรือคนละฝีมือช่าง ทำให้การเรียงอิฐไม่เรียบร้อยตรงส่วนรอยต่อเพิ่มออกไป เป็นแนวอิฐที่ชนกันเฉยๆ ทำให้มุขด้านตะวันออกและมุขด้านตะวันตกแนวอิฐแยกจากกันง่าย” มณฑปนี้เคยเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ปัจจุบันเหลือเพียงฐานรองรับ อาจจะรองรับรอยพระพุทธบาทก็ได้ ถ้าเป็นรอยพระพุทธบาท มณฑปหลังนี้น่าจะเรียกว่า มณฑปพระพุทธบาท
วิหาร ตั้งอยู่ระหว่างอุโบสถกับมณฑป เป็นวิหารขนาดเล็ก เหลือเพียงรากฐานแนวอิฐ และแนวของชุกชี เมื่อกรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดแต่งวิหาร พบว่าวิหารมีขนาดกว้าง ๗.๒๐ เมตร ยาว ๑๔.๘๐ เมตร มีทางขึ้นทางมุมด้านหน้าทั้ง ๒ ข้าง ตรงกลางมีบันไดขึ้นอีก ๑ ทาง
ด้านหลังอุโบสถ มีรากฐานของเจดียรายที่ได้รับการขุดแต่งแล้ว รวม ๖ องค์ นับจากทิศใต้เข้ามา องค์แรกเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง องค์ถัดมาเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยมองค์ระฆังหักโค่นมาทางทิศตะวันตก เจดีย์องค์ต่อไปเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม อีก ๒ องค์ เหลือเพียงรากฐาน องค์ทางทิศเหนือเป็นเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง เจดีย์รายแต่ละองค์หักพังหมดเป็นการยากที่จะดูรูปแบบเดิมได้
เสามุมกำแพงวัดเป็นเสาหัวเม็ด มีประตูทางเข้าเป็นประตูซุ้มอยู่ที่กำแพงด้านทิศเหนือ ๒ ประตู ด้านทิศตะวันออก ๑ ประตู
คลังดีบุก ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านตะวันออก เหลือเพียงรากฐานที่ก่อด้วยอิฐ กว้าง ๑๐.๕๐ เมตร ยาว ๒๖.๙๐ เมตร ภายในแบ่งเป็นห้อง ๓ ห้อง ห้องทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเกือบเท่ากันแต่ห้องกลางมีขนาดใหญ่กว่าห้องอื่น
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดเจ้าปราบ และคลังดีบุก เป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๖๐ ตอนที่ ๓๙ วันที่ ๒๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๘๖.