ประวัติกู่คันธนาม(กู่บ้านด่าน) พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เพื่อเป็นอโรคยาศาลตามแบบวัฒนธรรมเขมรแห่งหนึ่งใน ๑๐๒ แห่งในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๑) ตามจารึกปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา ชื่อกู่คันธนามเป็นชื่อที่เรียกขึ้นในภายหลัง ตามนิทานชาดกนอกนิบาตเรื่องคันธนโพธิสัตว์ชาดก ที่นิยมเล่ากันในกลุ่มชนเชื้อสายลาวโดยผูกเรื่องพุทธประวัติเข้ากับสถานที่ในท้องถิ่น ให้บริเวณกู่คันธนามและโดยรอบเป็นพื้นที่ซึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์

           บริเวณกู่คันธนาม ประกอบด้วยอาคาร ๒ หลังในกำแพง ได้แก่ ปราสาทประธาน ๑ หลังตอนกลาง และอาคารบรรณาลัยอีก ๑ หลังทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท ด้านนอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสระน้ำที่มีผังเช่นเดียวกับผังกู่โพนระฆัง

 

              ลักษณะสถาปัตยกรรมกู่คันธนาม เป็นปราสาทแบบเขมรที่ใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลักในการก่อสร้าง ตั้งบนฐานสูงในผังสี่เหลี่ยมย่อเก็จ สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้านหน้าปราสาทก่อมุขยื่นออกมาเชื่อมกับลานหิน ส่วนบรรณาลัยเป็นอาคารก่อด้วยศิลาแลงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านหน้าบรรณาลัยพบศิลาจารึกหินทราย จารึกอักษรเขมรโบราณภาษาสันสกฤต มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างอโรคยาศาลให้เป็นสถานพยาบาลสำหรับประชาชน การแต่งตั้งผู้ทำหน้าที่ในอโรคยาศาล และการพระราชทานสิ่งของตามขนาดของโรงพยาบาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ส่วนกำแพงก่อด้วยศิลาแลงมีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางกำแพงด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู (โคปุระ) รูปกากบาท ก่อด้วยศิลาแลง แต่ส่วนที่เป็นคานใช้หินทรายสีชมพู ภายในประดิษฐานพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ๔ กร ทำจากหินทรายในลักษณะศิลปะเขมรแบบบายนที่ปัจจุบันสูญหายแล้ว นอกจากนี้ภายในปราสาทยังพบพระไภสัชยคุรุไวฑูรยประภาและพระวัชรธร กึ่งกลางกำแพงด้านทิศเหนือและใต้มีห้องเล็กๆ ที่สามารถเปิดสู่ภายในได้ ส่วนสระน้ำนอกกำแพงกรุด้วยศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าง

 

 

           เอกลักษณ์ของกู่คันธนาม คือ การแสดงให้เห็นถึงแนวคิดในการผนวกเรื่องราวพุทธศาสนาให้เข้ากับสิ่งก่อสร้างศักดิ์สิทธิ์ที่มีอยู่เดิมในท้องถิ่นที่สร้างมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวซึ่งเข้ามาอาศัยในภายหลังเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๒๒

         กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนกู่คันธนาม ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดเขตที่ดินในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๒๖ เนื้อที่ประมาณ ๒ ไร่ ๓๕ ตารางวา กู่คันธนามได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๑ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย