ปรางค์สองพี่น้อง
เป็นศาสนสถานขนาดใหญ่ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองใน เนื่องจากมีปราสาท 2 องค์ตั้งอยู่เคียงบนฐานเดียวกัน องค์หนึ่งใหญ่ องค์หนึ่งเล็ก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า “ปรางค์สองพี่น้อง” ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของปรางค์หรือปราสาทประธาน มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเพิ่มมุม ขนาดความกว้างด้านละ 10.05 เมตร ก่อด้วย ศิลาแลงเป็นฐานปัทม์ซ้อนกัน 3 ชั้น มีบันไดกึ่งกลางด้าน เรือนธาตุและส่วนยอดของปราสาทก่อด้วยอิฐไม่สอปูนมีร่องรอยการฉาบปูนที่ผิวด้านนอก มีซุ้มประตูทางเข้าด้านทิศตะวันตก อีกสามด้านเป็นซุ้มประตูหลอก ความสูงประมาณ 7 เมตร ส่วนยอดปราสาทปัจจุบันอยู่ในสภาพชำรุด จนไม่สามารถระบุรูปทรงได้ชัดเจน ปราสาทประธานหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ภายในห้องครรภคฤหะ มีแท่นศิลาแลง สำหรับประดิษฐานรูปเคารพ และผนังด้านในทั้งสามด้าน คือ ด้านทิศเหนือ ด้านทิศตะวันออก และด้านทิศใต้มีการเจาะเป็นช่องซุ้มรูปสามเหลี่ยม อาจเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ที่ตั้งเครื่องบูชาหรือที่ตั้งประทีปโคมไฟเพื่อให้แสงสว่าง มุขปราสาททางด้านหน้ามีความยาวประมาณ 10 เมตร ผนังก่อด้วยอิฐ จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบหลักฐานว่า หลังคามุขปราสาทน่าจะมีการก่ออิฐซ้อนเหลื่อมเข้าหากันเป็นรูปโค้งเลียนแบบเครื่องไม้มีหน้าบันชั้นลด รวมทั้งการเจาะช่องหน้าต่างประดับด้วยซี่กรงลูกมะหวด
ทางด้านหน้าติดกับมุขปราสาทมีฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลงผังรูปกากบาทขนาดความกว้าง 13.90 เมตร ความยาว 17.75 เมตร สันนิษฐานว่าเป็นมณฑปด้านหน้าปราสาท ซึ่งมักจะปรากฏอยู่เสมอในสถาปัตยกรรมเขมรโบราณ ตัวมณฑปชำรุดหักพังจนไม่เหลือหลักฐาน
ทางด้านทิศใต้บนฐานเดียวกันกับปราสาทประธาน มีปราสาทขนาดเล็กอีก 1 หลัง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมคล้ายคลึงกับปราสาทประธาน ปัจจุบันเหลือหลักฐานเพียงส่วนฐานและเรือนธาตุส่วนล่าง ขนาดความกว้าง 5.85 เมตร ความยาว 7.14 เมตร
นอกจากนี้ยังพบทางเดินและอาคารขนาดเล็กอีกหลายหลังซึ่งคงใช้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา จากการขุดแต่งทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนประกอบสถาปัตยกรรม เช่น ทับหลังรูปอุมามเหศวร เสาประดับกรอบประตู นอกจากนี้ยังพบชิ้นส่วนศิวลึงค์ ฐานโยนิโทรณะ และประติมากรรมรูปโคนนทิ จึงสันนิษฐานว่า เมื่อแรกสร้างโบราณสถานแห่งนี้คงเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 และต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1760) เทวสถานแห่งนี้คงจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นวัดในพุทธศาสนาแบบนิกายมหายาน ซึ่งเป็นที่เชื่อถือศรัทธาแพร่หลายมากในช่วงระยะเวลานั้น
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ บริเวณทางเดินรูปกากบาททางเข้าโบราณสถานด้านหน้าได้พบประติมากรรมรูปสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 13 ซึ่งมีความเก่าแก่มากกว่าตัวโบราณสถานจึงอาจจะถูกเคลื่อนย้ายมาจากที่อื่นในสมัยหลัง หรือมีโบราณสถานซึ่งมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันถูกสร้างซ้อนทับอยู่