เมืองศรีเทพ
แผนผังเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
ตั้งอยู่ในเขตตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองโบราณที่เจริญรุ่งเรืองขึ้นในช่วงวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 13-14) และมีพัฒนาการต่อเนื่องจนถึงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมรโบราณ มีพื้นที่ทั้งหมด 2,889 ไร่ หรือประมาณ 4.7 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีคูเมือง-กำแพงเมืองล้อมรอบ ลักษณะผังเมืองแสดงถึงพัฒนาการของเมืองศรีเทพ ในระยะผังเมืองเป็นรูปทรงกลม ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.5 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 1,300 ไร่ เรียกกันว่า “เมืองใน” และปรากฏร่องรอยการขยายเมืองออกไปทางด้านทิศตะวันออก โดยขุดคูเมืองกำแพงเมืองขึ้นล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีพื้นที่ประมาณ 1,589 ไร่ เรียกกันว่า “เมืองนอก”
เขตเมืองในมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลอนลูกคลื่น มีช่องทางเข้า-ออกจำนวน 8 ช่องทาง บางแห่งมีชื่อที่ชาวบ้านใช้เรียก เช่น ประตูแสนงอน ประตูหนองกรดหรือประตูมะกัก ประตูศรีเทพ ประตูหนองบอนหรือ ประตูเพนียด ประตูน้ำ เป็นต้น ภายในเขตเมืองในมีโบราณสถานที่ได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว จำนวน 40 แห่ง โบราณสถานสำคัญ ได้แก่ ปรางค์ศรีเทพ ปรางค์สองพี่น้อง และเขาคลังใน นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานขนาดเล็กตั้งกระจายกันอยู่อีก 37 แห่ง สระน้ำและหนองน้ำ จำนวนประมาณ 70 แห่ง ที่สำคัญได้แก่ สระปรางค์ สระน้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของปรางค์ศรีเทพ
เขตเมืองนอกมีสภาพพื้นที่เป็นที่ลาดจากทิศตะวันออกมาทิศตะวันตก มีช่องทางเข้า-ออกจำนวน 6 ช่องทาง ประกอบด้วย ประตูแดง ประตูผี ประตูมะพลับ ประตูเกวียน ประตูน้ำ และประตูไม้แดง ภายในเขตเมืองนอกมีโบราณสถานขนาดเล็กซึ่งยังไม่ได้รับการขุดแต่งและบูรณะจำนวน 54 แห่ง มีสระน้ำขนาดใหญ่และหนองน้ำขนาดเล็ก จำนวนประมาณ 30 แห่ง ที่สำคัญ ได้แก่ สระขวัญ
นอกจากนี้บริเวณนอกคูเมืองกำแพงเมืองศรีเทพทางด้านทิศเหนือยังสำรวจพบโบราณสถานอีกหลายแห่ง ที่สำคัญซึ่งได้รับการขุดแต่งและบูรณะแล้ว ได้แก่ โบราณสถานปรางค์ฤาษี และโบราณสถานเขาคลังนอก นอกจากนี้ยังสำรวจพบโบราณสถานซึ่งยังไม่ได้ทำการขุดแต่งและบูรณะอีกจำนวน 50 แห่ง ส่วนทางด้านทิศตะวันตกนอกเมืองศรีเทพห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ ศาสนสถานสมัยทวารวดีที่ตั้งอยู่ภายในถ้ำหินปูน