แหล่งเตาสังคโลกบ้านเกาะน้อย
อยู่ห่างจากเมืองศรีสัชนาลัย ๕ กิโลเมตร พบหลักฐานเตาตลอดริมฝั่งแม่น้ำยม โดยกระจายทั่วไปประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร เท่าที่สำรวจพบแล้วประมาณ ๒๐๐ เตา โดยอยู่รวมเป็นกลุ่มๆ
กลุ่มเตาเผาที่สำคัญที่ได้ดำเนินการสำรวจและขุดค้นพร้อมทั้งอนุรักษ์ และจัดทำอาคารจัดแสดงคือ
กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๖๑ มีเตาใต้ดิน ๔ เตา เป็นเตาขุดลงไปในดิน ภาชนะที่พบส่วนใหญ่เป็นไหขนาดใหญ่สำหรับบรรจุน้ำหรือของแห้ง
กลุ่มเตาเผาหมายเลข ๔๒ เป็นแหล่งโบราณคดีที่ทำให้ทราบถึงพัฒนาการเตาเผาและสิ่งผลิตจากเตา เพราะภายในใต้ดินนั้นขุดพบเตาเผาสังคโลกที่ทับซ้อนกันอยู่ถึง ๑๙ เตา
ประเภทและลักษณะของกลุ่มเตาเผาบ้านเกาะน้อย
๑. เตาตะกรับ เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านตามแนวดิ่งและแนวตั้ง ให้ความร้อนไม่เกิน ๙๐๐ องศาเซลเซียส ลักษณะรูปร่างกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑-๒ เมตร แบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ห้องบรรจุภาชนะตอนบนเป็นแผ่นดินเหนียวเจาะรูกลมเพื่อระบายความร้อน และห้องใส่ไฟอยู่ด้านล่าง
๒. เตาประทุน เป็นเตาเผาชนิดระบายความร้อนไหลผ่านในแนวนอนเช่นเดียวกับเตาทุเรียงที่บ้านป่ายาง
พัฒนาการของเตาและผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา
เตาประทุน มีพัฒนาการดังนี้
เตาขุดหรือเตาอุโมงค์เป็นเตาเผาระยะแรก โดยขุดเป็นโพรงลึกเข้าไปในดินธรรมชาติ มีรูปด้านตัดเกือบกลมคล้ายโพรงสัตว์ ไม่มีคันกั้นไฟ พบมากในบ้านหนองอ้อ บ้านเกาะน้อย เครื่องปั้นดินเผาที่พบมีทั้งเคลือบและไม่เคลือบ เช่น ไห ชาม หลักฐานที่สำคัญที่พบคือเครื่องเคลือบเชลียง เตาขุดในระยะแรกเรียกว่า เตาเชลียง เริ่มปรากฏที่บ้านเกาะน้อย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา
เตาบนดินระยะที่ ๒ เป็นเตาระยะที่ ๒ มีขนาดใหญ่กว่าเตาขุด ส่วนใหญ่ เผาภาชนะดินเผาเคลือบสีเขียวไข่กา
เตาอิฐบนดินรุ่นหลัง เป็นเตาเผาที่พัฒนาการขั้นสุดท้าย ได้แก่ ซากเตาอิฐขนาดใหญ่ที่พบบนเนินสูง เตารุ่นนี้น่าจะเป็นช่วงที่เจริญสูงสุดในการผลิตสังคโลกจนสามารถส่งไปขายที่ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑