วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เชลียง
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้นอกกำแพงเมืองศรีสัชนาลัย โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออก เชื่อว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นศูนย์กลางของเมืองเชลียง ตั้งแต่สมัยพ่อขุนศรีนาวนำถม (ประมาณ พ.ศ. ๑๗๘๐) มาแล้ว โดยมีหลักฐานยอดซุ้มปูนปั้นประตูทางเข้าวัด ซึ่งมีลักษณะรูปแบบศิลปะสมัยบายน และหลักฐานจากการขุดค้นทางโบราณคดีที่ยืนยันได้ว่าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุมีอายุมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๘
วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเป็นกลุ่มโบราณสถานขนาดใหญ่ปัจจุบันมีฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นราชวรวิหาร โบราณสถานสำคัญมีดังนี้
ปรางค์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลงฉาบปูน ลักษณะรูปแบบสถาปัตยกรรมจัดอยู่ในสมัยอยุธยา บริเวณเรือนธาตุด้านหน้ามีบันไดขึ้นองค์ปรางค์สู่ซุ้มโถง ผนังภายในองค์ปรางค์พบว่ามีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังแต่ลบเลือนไปมาก ด้านหน้าองค์ปรางค์มีวิหารภายในประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางมารวิชัย ถัดจากพระพุทธรูปปางมารวิชัยทางด้านขวามีพระพุทธรูปปูนปั้นปางลีลาที่มีลักษณะงดงาม
กำแพงวัด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๖๐ เมตร ยาว ๙๐ เมตร เหนือซุ้มประตูทำเป็นรูปคล้ายหลังคายอด เหนือซุ้มขึ้นไปปั้นปูนเป็นรูปพระพักตร์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระธาตุมุเตา อยู่ด้านหลังปรางค์ประธานนอกกำแพงแก้วลักษณะพระธาตุมุเตาเป็นเจดีย์ทรงมอญ ในการขุดแต่งปี พ.ศ.๒๕๓๕ ได้พบทองจังโกประดับส่วนยอดของเจดีย์
มณฑปพระอัฏฐารศ อยู่ด้านหลังของพระธาตุมุเตา เดิมน่าจะเป็นมณฑปพระสี่อิริยาบถ ต่อมาได้ซ่อมแซมดัดแปลง ภายในซุ้มคูหายังมีพระพุทธรูปปูนปั้นยืนอยู่ เดิมมณฑปมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
วิหารพระสองพี่น้อง อยู่ทางซ้ายมณฑปพระอัฏฐารศ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบว่าฐานวิหารพระสองพี่น้องก่อทับอาคารเดิมที่ก่อด้วยอิฐ
โบสถ์ ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหาร ปัจจุบันทางวัดได้บูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหลังโดยสร้างทับโบสถ์เดิม
กุฏิพระร่วงพระลือ ชาวบ้านเรียกว่า ศาลพระร่วงพระลือ ลักษณะเป็นมณฑปฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้าง หลังคาคล้ายรูปชามคว่ำซ้อนกัน ๔ ชั้น ภายในประดิษฐานรูปพระร่วงพระลือ (จำลอง)