ชื่ออุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

หอนางอุสา


 

      

         ตั้งอยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เขตอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี มีลักษณะเป็นโขดหินคล้ายรูปดอกเห็ดหรือหอคอยขนาดเล็กตัวหอนางอุสาตั้งอยู่บนลานหินกว้าง ลักษณะประกอบด้วยหินขนาดใหญ่สองก้อนเรียงซ้อนทับกันในแนวดิ่งหินก้อนบนกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร และมีความสูง 10 เมตรจากพื้นลานหิน คาดว่าสภาพเห็นตั้งนี้เกิดจากธรรมชาติ แต่ภายหลังถูกดัดแปลงเพื่อเป็นที่พักของมนุษย์ในสมัยก่อน โดยแบ่งออกเป็นห้องมีลักษณะก่อหินเป็นรูปหน้าต่าง จากการสำรวจพบว่ามีใบเสมาหินเรียงอยู่โดยรอบจึงสันนิษฐานว่าบริเวณนี้เคยเป็นเขตพิธีกรรมทางศาสนามาก่อน   นอกจากนี้บริเวณยังพบกิจกรรมของมนุษย์ในพื้นที่บริเวณนี้ประมาณ 2,000-3,000 ปีก่อนประวัติศาตร์ บริเวณใกล้เคียงยังมีโขดหินที่มีลักษณะเรียงซ้อนกันหลากหลายแบบ และยังพบลักษณะของหลุมคล้ายลักษณะครกหินอยู่ รวมทั้งภาพเขียนสีผนังถ้ำหรือแง่งหินอีกด้วย

         ทั้งนี้ มีนิทานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับหอนางอุสาคือเรื่อง อุสา-บารส เล่าถึงเมื่อตอนนางอุสาเกิดมาจากดอกบัวฤษีจันทาได้นำนางอุสามาเลี้ยงเอาไว้ ต่อมาท้าวกงพานกษัตริย์เมืองพานซึ่งเป็นลูกศิษย์ของฤษีจันทาได้ขอรับนางอุสาไปเลี้ยงโดยให้มีฐานะเป็นธิดา ครั้นย่างเข้าวัยสาวธิดาของท้าวองค์นี้ก็มีศิริโฉมงดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของเจ้าชายจากหลายเมือง แต่ทางท้าวกงพานก็มิได้ทรงยกนางให้ใครและเพราะหวงธิดาองค์นี้มากจึงได้สร้างหอสูง (เป็นที่มาของหอนางอุสา)ให้อยู่แต่เพียงองค์เดียว อยู่มาวันหนึ่งนางไปอาบน้ำและได้ร้อยมาลัยรูปหงส์อธิษฐานเสี่ยงทายคู่ครองแล้วปล่อยลงน้ำ มาลัยนี้ได้ลอยไปถึงเมืองปะโคเวียงงัวและท้าวบารสซึ่งเป็นเจ้าชายเมืองปะโคเวียงงัวนี้ได้เก็บมาลัยของนางอุสาเอาไว้ จากนั้นจึงออกตามหาผู้เป็นเจ้าของมาลัยจนทราบว่าเป็นของนางอุสา ทั้งสองได้เกิดความรักกันจนลึงขั้นลักลอบได้เสีย เมื่อข่าวทราบถึงท้าวกงพานท้าวเธอก็พิโรธมากแต่ไม่สามารถทำอะไรได้เพราะเกรงกลัวเจ้าเมืองปะโคเวียงงัวบิดาของท้าวบารส จึงได้ออกอุบายแข่งกันสร้างวัดหากผู้ใดแพ้ต้องถูกตัดเศียร กำลังคนของท้าวบารสน้อยกว่าท้าวกงพานแต่ได้พี่เลี้ยงของนางอุสาช่วยออกอุบายให้เอาโคมไฟไปหลอกคนของท้าวกงพานว่าดาวประกายพรึกขึ้นแล้ว คนของท้างกงพานจึงหยุดสร้างวัดแต่ฝั่งของท้าวบารสก็ฉวยโอกาสนี้สร้างวัดจนเสร็จ เมื่อถึงเวลาตัดสินท้าวกงพานพ่ายแพ้จึงถูกตัดเศียร นางอุสาจึงต้องติดตามท้าวบารสไปยังเมืองปะโคเวียงงัวและพบว่าท้าวบารสมีชายาอยู่แล้ว ต่อมาโหรได้ทำนายว่าท้าวบารสต้องแก้กรรมด้วยการเดินป่าองค์เดียวหนึ่งปีจึงจะพ้นเคราะห์กรรม ระหว่างนั้นนางอุสาโดนกลั่นแกล้งจากชายาของท้าวบารสจนทนไม่ไหวต้องหนีออกจากเมืองปะโคเวียงงัวแล้วกลับเพืองพานที่ตนเคยอาศัยอยู่แล้วจึงตรอมใจตาย และเมื่อครบหนึ่งปีท้าวบารสจึงกลับเข้าเมืองแต่ไม่พบชายาจึงออกตามจนถึงเมืองพานและพบว่านางอุสาตรอมใจตายไปแล้วท้าวบารสจึงตรอมใจตายตาม

         นอกจากนี้ในบริเวณท้องถิ่นตามที่เชื่อกันว่าเป็นเมืองพานในนิทานท้องถิ่นเรื่องอุสา-บารส ยังมีการตั้งชื่อถ้ำและสถานที่ตามนิทานนี้เช่น ตำบลเมืองพาน, วัดพ่อตา-วัดลูกเขยที่ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นต้น และยังมีประเพณีแห่นางอุสาในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีเป็นประเพณีประจำปีด้วย