อาคารจัดแสดงศิลปวัตถุ
อาคารตั้งอยู่ใกล้กับลานจอดรถ เป็นสถานที่จัดแสดงชิ้นส่วนที่ได้จากการขุดแต่ง
โบราณวัตถุที่ใช้ประกอบสถาปัตยกรรม
จากการขุดแต่งโบราณสถานได้พบส่วนประกอบสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมากมีทั้งเป็นปูนปั้นดินเผา หิน และศิลาแลง
ลายปูนปั้น มีทั้งลายปูนปั้นรูปบุคคล ผู้ชาย ผู้หญิง เทวดาและยักษ์ บางครั้งพบสวมเครื่องประดับศรีษะ หรือกระบังหน้า แต่ส่วนใหญ่ไม่ปรากฎเครื่องประดับศรีษะ หรือกระบังหน้า นอกจากนี้ยังมีปูนปั้นรูปสัตว์ส่วนใหญ่จะ เป็นสัตว์ที่สำคัญเกี่ยวเนื่องในศาสนาหรือคติความเชื่อต่างๆ เช่น ช้าง ลิง และนาค ลายพันธุ์พฤกษาซึ่งใช้ประดับ อยู่ตามชั้นต่างๆตลอดไปจนถึงส่วนบนที่มีลักษณะเป็นยอดปราสาท
เครื่องปั้นดินเผาประกอบสถาปัตยกรรม ส่วนใหญ่เป็นกระเบื้องมุงหลังคาที่เรียกว่ากระเบื้องกาบู กระเบื้องตัวผู้มีลักษณะเป็นทรงกระบอกผ่าซีกคล้ายกาบกล้วย ปลายด้านหนึ่งบานออกเล็กน้อยภายในมีขาเกาะยื่น ออกมาจากด้านในเล็กน้อยเวลามุงหลังคาปูคว่ำลง กระเบื้องตัวเมียมีลักษณะเป็นกระเบื้องโค้งค่อนข้างแบนกว่า กระเบื้องตัวผู้ส่วนขาเกาะยื่นออกมาเล็กน้อยตรงส่วนกลางด้านนอกของกระเบื้องเวลามุงปูให้หงายขึ้นและกระเบื้อง เชิงชายที่ใช้ปิดที่ปลายกระเบื้องตัวผู้มีลักษณะเช่นเดียวกับกระเบื้องตัวผู้โดยมีปลายด้านหนึ่งปิดทำเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมคล้ายกลีบดอกไม้หรือกลีบกระจัง นอกจากระเบื้องมุงหลังคาแล้วยังพบบราลีดินเผาใช้ประดับสันหลังคา ลักษณะเป็นทรงคล้ายดอกบัวตูมส่วนล่างผายออกเป็นฐานส่วนปลายเว้าเข้ารับกับส่วนหลังคา องค์ประกอบสถาปัตยกรรมที่ปราสาทเมืองสิงห์ส่วนใหญ่สร้างด้วยศิลาแลง และปูนปั้น ส่วนหินทราย ใช้เฉพาะส่วนสำคัญ ของโบราณสถาน เช่น ส่วนยอดปรางค์ แผ่นศิลาฤกษ์และรางน้ำมนต์อาจเนื่องจากในบริเวณนี้หาแหล่งหินทรายได้ยาก ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะพบว่าแม้แต่ในที่มีหินทรายสมัยนี้ก็ยังใช้ศิลาแลง
โบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมในศาสนา
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจาการขุดแต่งโบราณสถานปราสาทเมืองสิงห์ทั้ง ๔ แห่ง พบโบราณวัตถุที่เป็นประติมากรรมในศาสนาพุทธนิกายมหายานมากมาย ส่วนใหญ่เป็นรูปพระพุทธรูปนาคปรก รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และรูปนางปรัชญาปารมิตาหรือนางปัญญาบารมี ซึ่งทั้ง ๓ องค์นี้ถือว่าเป็นประติมากรรมสูงสุดของพุทธศาสนานิกายมหายาน หรือที่เรียกกันว่า รัตนตรัยมหายาน พระพุทธรูปนาคปรกส่วนใหญ่มีสภาพชำรุด เหลือเพียงส่วนฐานบ้าง ลักษณะพระพักตร์ลางเลือน เนื่องจากจำหลักยังไม่เสร็จบ้าง ส่วนใหญ่พบบริเวณโบราณสถาน หมายเลข ๑ จำนวน ๓ องค์ บางองค์มีลักษณะท้องถิ่นเข้ามาปะปนแต่ก็ถือได้ว่าเป็นศิลปขอมแบบบายนในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ลักษณะของพระพุทธรูปสมัยนี้จะมีพระพักตร์อมยิ้มแสดงความเมตรากรุณาพระเนตรปิดสนิท
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตรศวรที่พบที่ปราสาทเมืองสิงห์ พบเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตรศวร ๔ กร รวมทั้งสิ้น ๑๔ องค์ โดยพบที่โบราณสถานหมายเลข ๑ จำนวน ๖ องค์ โบราณสถานหมายเลข ๒ จำนวน ๖ องค์ และบริเวณ นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก จำนวน ๑ องค์ มีลักษณะเป็นศิลปขอมแบบบายนคือพระพักตร์ค่อนข้างสี่เหลี่ยม พระเนตรปิดสนิท พระโฮษฐ์อมยิ้ม พระเกตุมาลาเป็นรูปทรงกระบอกปลายตัด พระเกศาสลักเป็นรูปจันทร์เสี้ยวเล็กๆ เรียงซ้อนกันขึ้นไปเป็นแนวตรง มีพระธยานิพุทธอมิตาภะ (ปางสมาธิ) อยู่หน้ามวยพระเกศาหรือพรัเกตุมาลา นุ่งผ้าโจงกระเบนสั้น มีชายผ้าเป็นริ้วรูปหางปลา คาดเข็มขัดที่มีหัวเข็มขัดทั้งด้านหน้าและด้านหลังขอบล่างของผ้านุ่ง มี ลวดลายประดับเป็นแนว
นอกจากรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ยังมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่ง คือพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีลักษณะเป็นรูปบุรุษประทับยืนมีเศียรเดียว ๘ กร พระพักตร์รูปสี่เหลี่ยมพระเนตรปิด พระขนงหนา มีพระเนตรที่สามกลางพระนลาฏ พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์อมยิ้ม พระ เกตุมาลาเป็นรูปทรงกระบอกปลายตัด ด้านหน้าสลักเป็นรูปพระธยานิพุทธอมิตาภะ พระเกศา พระเกตุมาลา พระพาหา พระวรกายท่อนบานด้านหน้าและพระวรกายท่อนด้านหลังครึ่งหนึ่งสลักเป็นรูปบุคคลนั่งขัดสมาธิขนาดเล็ก ประดับอยู่เต็มกลางพระอุระและรอบบั้นพระองค์ที่มีรูปบุคคลขนาดใหญ่ประดับอยู่ด้วย พระวรกายท่อนล่างนุ่งผ้าโจงสั้นมีลายชายผ้าเป็นริ้วรูปหางปลาทั้งด้านหน้าและด้านหลัง คาดเข็มขัด ลายของผ้านุ่งสลักเป็นลายลูกประคำ นอกจากนี้ยังมีรูปบุคคลขนาดเล็กนั่งขัดสมาธิอยู่รอบข้อพระบาทและโคนนิ้วพระบาททั้งสิบด้วย
นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปนางปรัชญาปารมิตาหรือนางปัญญาบารมี เทพีในศาสนาพุทธนิกาย มหายาน ซึ่งมีที่มาจากคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนา คือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตา รูปนางปรัชญาปารมิตาที่พบที่ปราสาทเมืองสิงห์มี ๔ องค์ แต่สมบูรณ์เพียง ๒ องค์ เป็นแบบ ๑ เศียร ๒ กร มีพระธยานิพุทธอมิตาภะอยู่ด้านหน้าพระเกตุ มาลา องค์ที่มีพระหัตถ์สมบูรณ์นั้น พระหัตถ์ขวาถือดอกบัว พระหัตถ์ซ้ายถือคัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร (ซึ่งต่างจากลักษณะที่พบที่ประเทศกัมพูชาที่ถือดอกบัวในพระหัตถ์ซ้าย ส่วนพระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ปรัชญาปรามิตาหรือคัมภีร์ปรัชญาบารมี) จากลักษณะพระพักตร์ คือมีพระเนตรปิด พระโอษฐ์อมยิ้ม และผ้านุ่งทิ้งชายลงมาตรงๆ เป็นผ้าลายมีชายรูปสามเหลี่ยมห้อยอยู่ข้างหน้านั้นแสดงให้เห็นถึงลักษณะของศิลปขอมแบบบายน คือแสดงอาการยิ้มบนใบหน้าประติมากรรมในพุทธศาสนา พระเนตรจะปิดสนิท ผ้านุ่งสตรีไม่มีจีบแต่นุ่งผ้าลายดอกชายผ้าข้างหน้าจะพับย้อม เป็นรูปปลายแหลมหรือสามเหลี่ยมมีเข็มขัดสลักลายดอกไม้คาด
รูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตาเหล่านี้ อุทยานประวัติศาสตร์เมืองสิงห์ได้จำลองแบบและจัดแสดงไว้ในอาคารจัดแสดงโบราณวัตถุของอุทยาน เพื่อให้ประชาชนได้ศึกษารูปแบบและลักษณะจำนวน ๙ องค์ รวมทั้งรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเปล่งรัศมีด้วย
นอกจากประติมากรรมในศาสนาพุทธขนาดใหญ่ดังที่กล่าวมาแล้ว ยังพบประติมากรรมขนาดเล็กได้แก่ พระพิมพ์ที่พบทั้งพระพิมพ์ดินเผา แม่พิมพ์ดินเผาและพระพิมพ์เนื้อชินตะกั่ว โดยพบที่โบราณสถานหมายเลข ๑ โบราณสถานหมายเลข ๓ และแม่พิมพ์ดินเผา ๓ องค์ พบที่บริเวณนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตก
โบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้
พบที่เป็นเครื่องปั้นดินเผาทั้งที่เป็นภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดินได้แก่ ตะคัน ผอบ หม้อ และภาชนะดิน เผาประเภทเคลือบทั้งแบบสุโขทัย แบบเขมร เครื่องถ้วยเวียดนาม และเครื่องถ้วยจีน โบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ที่พบได้แก่ แท่นหินบด พร้อมสากบด ขวานหินขัด ลูกปัดหินอะเกต ลูกปัดหินคาร์นีเลียน ลูกปัดแก้ว ส่วนที่เป็น โลหะที่พบได้แก่เศียรนาคสำริด ซึ่งเป็นเครื่องประดับราชรถหรือราชยานคานหามแหวนทองคำ เหล็กยึด และเหล็ก สกัดที่ใช้ในการก่อสร้าง
แผนที่อาคารจัดแสดงศิลปวัตถุ (หมายเลข 5)