วัดสิงห์ท่า ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านสิงห์ท่าริมแม่น้ำชีที่เป็นศูนย์กลางการค้าของเมืองยโสธรในอดีต ปัจจุบันยังปรากฏสถาปัตยกรรมที่สะท้อนความเจริญรุ่งเรืองของเมือง ได้แก่ อาคารบ้านเรือนห้องแถวแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก สมัยฝรั่งเศสปกครองแม่น้ำโขงทางฝั่งซ้าย ช่วงรัชกาลที่ ๖-๗ ตามประวัติชุมชนบ้านสิงห์ท่าตั้งขึ้นโดยท้าวคำสูในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ส่วนวัดท่าสิงห์สร้างในปี พ.ศ.๒๓๒๔ บนพื้นที่วัดร้างซึ่งพบพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนขนาดใหญ่ที่มีหน้าตักกว้าง ๓ เมตร จึงเรียกว่าวัดพระเจ้าใหญ่ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสิงห์ท่า ภายหลังได้บูรณะพระพุทธรูปแล้วจึงนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานของวัดสืบมา พระพุทธรูปมีลักษณะแบบพื้นถิ่นอีสาน ประทับนั่งปางมารวิชัย พระเศียรเล็กเมื่อเทียบกับพระวรกาย พระพักตร์กลม พระขนงโค้ง พระปรางอูม พระเนตรเปิด พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา พระกรรณยาว ครองจีวรแบบห่มดอง สังฆาฏิเป็นแผ่นแบน ยาวจรดพระนาภีที่เจาะเป็นรูแต่งขอบให้เป็นดอกไม้ นอกจากพระพุทธรูปใหญ่แล้ว ภายในวัดมีโบราณสถานสำคัญ คือ พระเจดีย์
ลักษณะสถาปัตยกรรมเจดีย์วัดสิงห์ท่า เป็นเจดีย์ทรงจอมแหในผังย่อมุมไม้สิบสองที่ได้รับอิทธิพลเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่นิยมการย่อมุมไม้สิบสองและการใช้บัวกลุ่มแทนชั้นมาลัยเถา ส่วนฐานตอนล่างเจดีย์ ประกอบด้วยฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ชั้นรับชุดฐานบัว เหนือขึ้นไปเป็นชุดฐานบัวย่อมุมไม้สิบสองซ้อนกัน ๒ ขั้น องค์ระฆังในตอนกลางแบบสี่เหลี่ยมแต่งบัวปากระฆัง ส่วนยอดเป็นปล้องไฉนแบบบัวกลุ่มลดหลั่นกันขึ้นไป ๗ ชั้น และปลียอด จากการขุดตรวจในส่วนฐานพบการซ่อมบูรณะด้วยการก่อสร้างพอกทับซ้อนฐานเดิม
เอกลักษณ์ของเจดีย์วัดสิงห์ท่า คือ การสะท้อนความสัมพันธ์ทางด้านศิลปกรรม ระหว่างศิลปะพื้นถิ่นอีสานกับศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้นในกลุ่มเมืองบริเวณลุ่มแม่น้ำชี
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดสิงห์ท่า ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๕ เนื้อที่ประมาณ ๓ งาน ๑๔ ตารางวา โดยเจดีย์ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย