วัดธาตุทอง ตำบลโพนงาม อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร เอกสารกล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๔๐๐ สมัยเจ้าอธิการชาลี ธมฺมิโก เป็นเจ้าอาวาส โดยการบริจาคที่ดินของพ่อสีหาราช แม่คำมี ไชยแสง ภายในมีโบราณสถานสำคัญ คือเจดีย์ประธาน เจดีย์รายด้านหลังเจดีย์ประธาน และสิมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเจดีย์ประธาน
ลักษณะสถาปัตยกรรมเจดีย์ประธาน ทรงบัวเหลี่ยมสร้างก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่มีช่องทางเข้าทั้ง ๔ ด้าน ส่วนฐานเจดีย์เป็นฐานเขียงขนาดเล็ก ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ๓ ชั้น รับฐานบัวซ้อนกัน ๒ ชั้น ตอนกลางเป็นชุดบัวเหลี่ยมซ้อนกัน ๒ ชั้นรับปลียอด
ลักษณะสถาปัตยกรรมเจดีย์ราย เป็นทรงบัวเหลี่ยมสร้างก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมจัตุรัส ส่วนฐานตอนล่างเป็นเขียงซ้อนกัน ๓ ชั้นรับส่วนห้องมณฑป เหนือขึ้นไปเป็นชุดบัวเหลี่ยมและปลียอด
ลักษณะสถาปัตยกรรมสิม เป็นทรงพื้นถิ่นอีสาน เป็นสิมไม้สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออกบนฐานก่ออิฐถือปูนเตี้ยในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด ๓ ห้อง เฉพาะผนังห้องแรกหน้าตีไม้ระแนงแบบก้างปลา ส่วนผนังห้องที่เหลือตีไม้ทึบในแนวตั้ง มีหน้าต่างห้องละ ๑ บาน มีประตูทางเข้าตอนกลางด้านหน้า บานประตูตีไม้ระแนงแบบก้างปลา หลังคาทรงจั่ว โดยยกจั่วเล็กในตอนกลางอีก ๑ ชั้น ประดับโหง่ ใบระกาเป็นแผ่นไม้เรียบ และหางหงส์ โดยจังหวัดยโสธรพบสิมไม้ในลักษณะเดียวกันนี้อีก ที่สิมวัดสมสะอาด และสิมวัดกุดชุมใน
เอกลักษณ์ของเจดีย์และสิมวัดธาตุทอง คือ เป็นงานสถาปัตยกรรมในต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ที่สะท้อนความเป็นพื้นถิ่นอีสานได้อย่างชัดเจน
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดธาตุทอง ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๖ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๑ งาน ๘ ตารางวา เจดีย์ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๓๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย