ดงเมืองเตย
ประวัติเมืองโบราณดงเมืองเตย สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อ ๒,๕๐๐-๑,๖๐๐ ปีมาแล้ว ชุมชนดงเมืองเตยตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำชี ห่างจากลำน้ำชีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๖ กิโลเมตร เป็นชุมชนเกษตรกรรมผลิตเครื่องปั้นดินเผา ถลุงเหล็ก มีประเพณีการฝังศพแบบนอนหงายเหยียดยาวและการฝังครั้งที่ ๒ ต่อมาในสมัยทวารวดีจึงพบหลักฐานการสร้างเมืองโบราณดงเมืองเตยขึ้น เป็นชุมชนที่นับถือศาสนาพราหมณ์ ก่อนจะเปลี่ยนเป็นพุทธศาสนาในภายหลัง และพบหลักฐานว่าเมืองโบราณดงเมืองเตยได้ทิ้งร้างลงไปในระยะพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘
ลักษณะทางกายภาพของเมืองโบราณดงเมืองเตย เป็นเนินดินรูปวงรีมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ขนาดเฉลี่ย ๖๕๐x๓๖๐ เมตร ด้านทิศเหนือของเมืองพบซากเทวาลัยสร้างก่ออิฐติดชิดกันไม่สอปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ตอนกลางด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้นแบบมีอัฒจันทร์ประดับฐานบันไดด้านหน้า ทั้งยังพบกูฑุที่เป็นซุ้มขนาดเล็กภายในสลักใบหน้าบุคคล เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระอิศวร ตามหลักฐานจารึกหินทรายสีแดงอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตที่พบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เนื้อความโดยสรุปกล่าวถึง การสร้างเทวสถานถวายแด่พระอิศวร โดยพระนางศรีมานุญชลีบุตรีคนที่ ๑๒ ของพระศรีมารประวรเสนะผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ และพบสิงห์สลักจากหินทรายสีขาว สภาพสมบูรณ์ ลักษณะศิลปกรรมแบบเขมรสมัยแปรรูป อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕ นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทรายและศิลาแลงจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาของผู้คนในดงเมืองเตยในเวลาต่อมา
เอกลักษณ์ดงเมืองเตย คือ ลักษณะอาคารที่มีบันไดเป็นรูปอัฒจันทร์ และชิ้นส่วนประดับอาคารรูปกูฑุที่ภายในสลักใบหน้าบุคคล แสดงถึงอิทธิพลอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะในศิลปะทวารวดี เช่นเดียวกับที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม โบราณสถานดงแม่นาเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โบราณสถานหมายเลข ๑๘ เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานดงเมืองเตย ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙ และกำหนดเขตที่ดินในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เนื้อที่ประมาณ ๒๒ ไร่ ๓ งาน ๘๑ ตารางวา ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย