ในราวพุทธศตวรรษที่ 14 พระเจ้าชัยวรมันที่ 2 (ครองราชย์ระหว่าง 1345-1393) ได้รวบรวมอาณาจักรเจนละบก และเจนละน้ำรวมกันในนามกัมพุช ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของยุคพระนครพร้อมกับการฟื้นตัวของศาสนาพราหมณ์ และการขยายตัวของพุทธศาสนาแบบทวารวดี (ระหว่าง พ.ศ.1420-1432) ในสมัยพระเจ้าอินทรวรมันที่1 อาณาจักรกัมพุชเริ่มขยายอำนาจทางการเมืองเข้ามายังเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีของวัฒนธรรมเขมร สมัยเมืองพระนครบริเวณที่ราบสูงโคราชอย่างแพร่หลายนั้น แสดงถึงความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมระหว่างชุมชนทั้งสอง
ปราสาทบ้านเบญจ์เป็นปราสาทที่สร้างขึ้นในช่วงเวลานี้ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านเบญจ์ ตำบลหนองอ้ม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะปราสาทเป็นศาสนสถานศิลปะเขมรโบราณ ประกอบด้วยปราสาทก่อด้วยอิฐ 3 หลัง เรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ ตั้งบนฐานศิลาแลง มีทางเข้าเพียงด้านเดียว องค์ปราสาทหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงศิลาแลง โดยมักจะใช้ประดิษฐานเทพเจ้าตรีมูรติ เนื่องจากเป็น ศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ ตรงประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกปรากฏร่องรอยฐานศาลาจตุรมุขและซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระ นอกจากส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ก่อด้วยอิฐแล้ว ยังมีเสาประดับกรอบประตูสลักจากหินทรายทับหลังสลักจากหินทรายพบบริเวณตัวปราสาทซึ่งโกลนเป็นลวดลายท่อนพวงมาลัยมีแนวอุบะชั้นกลางเช่นเดียวกับทับหลังศิลปะเขมรแบบคลังหรือเกลียง อายุราวครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 16 และทับหลังพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ กรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่งปราสาทหลังนี้เมื่อ พ.ศ.2533 พบทับหลังเทพนพเคราะห์ที่สมบูรณ์มาก และปัจจุบันได้จัดแสดงพร้อมกัน ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี
แผนที่
ภาพถ่ายทางอากาศ
นอกจากนี้ภาพถ่ายทางอากาศยังแสดงถึงร่องรอยของชุมชนโบราณในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี ตามวัฒนธรรมเขมรยุคพระนคร เช่น การสร้างบาราย แนวคูน้ำคันดิน การค้นพบหลักฐานโบราณสถาน และโบราณวัตถุในยุคร่วมวัฒนธรรมเขมรสมัยพระนครแสดงว่าพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีมีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง
อิทธิพลวัฒนธรรมเขมรสมัยเมืองพระนครคงจะสิ้นสุดลงพร้อมกับรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ราวกลางพุทธศตวรรษที่ 18 หลักฐานทางโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการต่างๆ ของชุมชนในเขตจังหวัดอุบลราชธานีเริ่มลดน้อยลงและหายไปในที่สุด จนถึงราวพุทธศตวรรษที่ 23 จึงเริ่มปรากฏหลักฐานการเคลื่อนย้ายของกลุ่มชนไทย-ลาว เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่พร้อมๆกับการเริ่มต้นของวัฒนธรรมไทย-ลาว ที่ดำรงมาจนถึงทุกวันนี้