ศาลากลางหลังเก่า(พิพิธภัณฑ์ฯ อุบลราชธานี)
ที่ตั้ง บ้านเขื่อนธานี ถนนเขื่อนธานี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พิกัดทางภูมิศาสตร์ พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5939 II ที่ 48PVB847835 ประมาณรุ้งที่ 15 องศา 13 ลิปดา 39.04 ฟิลิปดา เหนือ แวงที่ 104 องศา 51 ลิปดา 27.07 ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 484698.69 1683495.17 (WGS84))
แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5939 II ที่ 48PVB847835
แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งศาลากลางหลังเก่า(พิพิธภัณฑ์ฯ อุบลราชธานี)
ประวัติอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี เดิมเป็นอาคารศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2461 ในที่ดินหม่อมเจียงคำ ชุมพล ณ อยุธยา ชายาในพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ผู้สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว หลังจากได้สร้างศาลากลางจังหวัดหลังใหม่แล้ว จึงได้มอบศาลากลางจังหวัดหลังนี้ ให้กรมศิลปากรทำการบูรณะเพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี โดยกรมศิลปากรได้กราบบังคมทูลเชิญ สมเด็จพระเทพรัตราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ในวันที่ 30 มิถุนายน 2532
อาคารหลังนี้มีรูปทรงสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบโคโรเนียล ก่อสร้างด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูนสร้างหันหน้าไปทางทิศเหนือ ลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวยกพื้นใต้ถุนเตี้ยผนังทึบมีช่องระบายอากาศแบบลูกกรงไม้ด้านในและก่ออิฐเว้นช่องด้านนอก พื้นที่ใช้สอยของอาคารเป็นห้องเรียงติดกันเป็นแถวรูปสี่เหลี่ยม มีทางเดินด้านในแล่นถึงกันโดยตลอดและมีห้องโถงใหญ่ยื่นขวางทะลุพื้นที่โล่งตอนกลางที่อยู่ตรงข้ามกับประตูทางเข้าออก ตัวอาคารภายนอกทาสีเหลือง ภายในอาคารและเพดานทาสีขาว องค์ประกอบที่เป็นเครื่องไม้ทั้งหมด(ยกเว้นพื้น)ทาสีเขียว หลังคาทรงปั้นหยามุงด้วยกระเบื้องว่าวสีแดง ส่วนมุขด้านหน้ามีหน้าบันทรงโค้งมนที่หัวเสาทั้งสองข้างตอนล่างประดับปูนปั้นทรงกลม พื้นที่หน้าบันตอนกลางทำกรอบสี่เหลี่ยมทาสีขาวและประดับตัวอักษร “ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี” ส่วนยอดตอนบนประดับตัวครุฑไม้ลงรักปิดทอง และพบการตกแต่งลายปูนปั้นรูปดอกบัว ใบบัวในช่องสี่เหลี่ยมใต้หน้าต่างและที่ผนังด้านนอกบางแห่ง นอกจากนี้พบการตกแต่งไม้ฉลุลายพรรณพฤกษาประดับ ที่ช่องลมเหนือกรอบประตูและแผ่นไม้สามเหลี่ยมปิดหัวมุมหัวเสาระเบียงด้วย รูปแบบอาคารหลังนี้มีความคล้ายคลึงกับอาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติราชบุรี ซึ่งเคยเป็นศาลากลางจังหวัดราชบุรีที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2465
อาคารแห่งนี้มีเอกลักษณ์ความโดดเด่นคือ การผสมผสานรูปทรงทางสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น โดยเฉพาะการออกแบบระเบียงทางเดินให้กว้างและโปร่งโล่ง รวมถึงทำสวนหย่อมภายในเพื่อสร้างความร่มรื่นให้แสงและลมถ่ายเทเข้ามาในตัวอาคาร และที่หน้าบันมุขโถงด้านหน้าประดับปูนปั้นลายเครือเถารูปดอกบัวหลวงสลับใบบัวสื่อถึงชื่อจังหวัดอุบลราชธานี และมีตัวครุฑขนาดใหญ่ประดับหน้าบันมุขทางเข้าด้านหน้า อันแสดงถึงความเป็นสถานที่ราชการภายใต้กษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 17 ธันวาคม 2511 เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 26 ตารางวา และได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดเมื่อปีพ.ศ.2545