หอไตรหนองขุหลุแต่เดิมใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานทางพุทธศาสนามีทั้งตัวอักษรธรรมและอักษรขอมมีบันทึกในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองอุบลราชธานีและประวัติวัดทุ่งศรีเมืองระบุว่าหอไตรแห่งนี้บรรจุตำราหนังสือและวรรณคดีของอีสานเกือบครอบครันทุกวันนี้คัมภีร์ใบลานและหีบพระธรรมเก็บรักษาไว้ที่พระอุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย ตามหลักฐานในใบลาน(หนังสือก้อม)หอไตรหนองขุหลุสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2458 โดยท่านพระครูสิงห์เจ้าอาวาสรูปที่ 5 ของวัดศรีโพธิ์ชัย (ซึ่งเป็นวัดอยู่บริเวณตลาดอำเภอตระการพืชผล)ได้นำชาวบ้านสร้างไว้

          ประวัติการบูรณะ

         จากคำบอกเล่าของผู้คนในพื้นที่ หอไตรหนองขุหลุผ่านการบูรณะซ่อมแซมมาหลายครั้งแล้ว โดยได้รับการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2520 - 2521 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาไล่เลี่ยกับการก่อสร้างพระธาตุตระการพืชผล สำหรับการบูรณะครั้งอื่น ๆ เป็นการซ่อมแซมแต่เพียงเล็กน้อยเฉพาะบางส่วน เช่น การซ่อมแซมเสาไม้ ซึ่งถูกฟ้าผ่า การซ่อมแซมส่วนเล็กๆ น้อยๆ นั้นไม่ได้มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร จึงไม่สามารถสืบทราบว่ามีส่วนประกอบอาคารส่วนใด ได้รับการซ่อมแซมอย่างไร และเมื่อใดบ้าง

         การซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ. 2520 - 2521 มีการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา โดยนำกระเบื้องเคลือบที่เหลือจากการมุงหลังคาอุโบสถวัดศรีโพธิ์ชัย มาใช้ซ่อมแซมส่วนที่แตกหักหลุดหายไป ช่อฟ้าเปลี่ยนจากที่ทำด้วยไม้ มาเป็นช่อฟ้าปูนเสริมเหล็กเส้นภายใน ผิวรอบนอกเป็นดินเผาเคลือบ ช่อฟ้าที่จั่วด้านทิศใต้มีอักษรจารึกระบุว่าทำขึ้นในการซ่อมแซมเมื่อปี พ.ศ.2521 คันทวยชำรุดที่พบในหอไตรก็น่าจะมีการถอดเปลี่ยนใส่ตัวใหม่ในการบูรณะซ่อมแซมครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

         การก่อสร้างสะพานไม้เข้าสู่ตัวอาคารนั้น จากคำบอกเล่าของชาวบ้านทำให้ทราบว่า สะพานไม้ไม่ได้สร้างเข้าไปติดกับตัวอาคาร เมื่อพระสงฆ์หรือสามเณรจะขึ้นไปหยิบหนังสือที่อยู่ภายในหอไตร ก็จะต้องนำไม้ไปวางพาดจากสะพานไปถึงประตูทางเข้า แล้วจึงเดินเข้าไปในหอไตรได้

         อย่างไรก็ตาม พบหลักฐานว่ามีการบูรณะซ่อมแซมส่วนประกอบโครงสร้างอาคารส่วนต่าง ๆ มากมาย เช่น รอยต่อของเสาอาคาร รอยต่อไม้เชิงชายด้านทิศใต้ รอยต่อของไม้ระแนงซึ่งนำไม้ขนาดใหญ่กว่าไม้ระแนงเดิมมาต่อเสริมไว้ ดังนี้เป็นต้น

         ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ตัวอาคารตั้งอยู่กลางหนองขุหลุซึ่งเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่มีถนนลูกรังล้อมรอบอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ว่าการอำเภอตระการพืชผลประมาณ1กิโลเมตรปัจจุบันมีการถมพื้นที่เข้าไปในหนองน้ำตามโครงการพัฒนาหนองขุหลุปี  พ.ศ.2540

 

         หอไตรหนองขุหลุมีีลักษณะเป็นหอน้ำ จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอีสานแท้ สร้างด้วยไม้ รูปทรงอาคารเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัส ยกพื้นสูงมากจากระดับน้ำทำให้แลดูส่วนของเสายาวบีบตัวอาคารแคบลง เสาไม้กลมจำนวน 25 ต้น เรียงเป็นแถว 5 แถว แถวละ 5 ต้น ตัวอาคารเป็นเรือนไม้แบบเครื่องสับหลังคามี 2 ส่วน คือส่วนบนเป็นทรงจั่ว ส่วนชั้นล่างทำเป็นหลังคาปีกนก (พะไร) มีทวยไม้แกะสลักรองรับชายคาปีกนกโดยรอบ รวยลำยองเป็นไม้ แกะสลักเป็นช่อฟ้า(โหง่) ใบระกา และหางหงส์ซึ่งทำเป็นลายก้านขดคล้ายเลขหนึ่งไทยซ้อนกันและหันหัวแย้งกัน 3 ชั้น หลังคาในปัจจุบันมุงด้วยกระเบื้องเคลือบ ภายในเป็นห้องทึบสำหรับเก็บคัมภีร์ มีประตูทางเข้าด้านทิศใต้เพียงด้านเดียว ที่ฐานทำเป็นฐานบัว (เอวขันหรือแอวขัน) แกะสลักลวดลายโดยรอบ ผนังด้านนอกมีหน้าต่างทั้งสี่ด้าน บริเวณด้านหน้าทำเป็นสะพานไม้เข้าไปถึงตัวหอไตร แต่ปัจจุบันพังจนใช้การไม่ได้แล้ว

         สภาพปัจจุบัน หอไตรหนองขุหลุ ภายหลังการบูรณะในปี พ.ศ. 2542 ได้มีการสร้างสะพานไม้ จัดทำช่อฟ้า ตัวลำยอง ใบระกา หางหงส์ รื้อสังกะสีและทำการเข้าไม้หน้าบันแะสลักลวดลายไม้ประดับหน้าบัน ซ่อมแซมประตู หน้าต่าง ติดตั้งไม้ไขรา ซ่อมแซมหลังคาและมุงเสริมกระเบื้อง ติดตั้งครอบสันหลังคาและตะเข้สันให้มั่นคง ใช้ลวดตาข่ายปิดช่องว่างกันนก ทำความสะอาดและทาน้ำยารักษาเนื้อไม้ทั่วทั้งอาคาร ก่อสร้างบันไดทางเท้า และสุดท้าย จัดทำแท่นป้ายประวัติ โครงสร้างอาคารทั้งหมดอยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ประกอบกับสิ่งก่อสร้างแวดล้อมซึ่งจัดทำไว้อย่างเหมาะเจาะ มีความสอดประสานกันอย่างกลมกลืน ขับเน้นความสง่างามของโบราณสถานให้โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง และจะดำรงอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปอีก