จังหวัดอุบลราชธานีเป็นแหล่งที่มนุษย์ได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานมาแต่โบราณ ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องตามร่องรอยที่ปรากฏตั้งแต่ยุคหินที่มนุษย์อาศัยเพิงผาหน้าถ้ำ จนเข้าสู่สังคมล่าสัตว์และสังคมเกษตรกรรม มีหลักฐานทางโบราณคดีทิ้งไว้จำนวนมาก ทั้งนี้มีจารึกตัวอักษรปรากฏเป็นสองระยะ คือ ระยะแรกสมัยเจนละ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 - 12 ใช้อักษรปัลลวะ มีจารึกวัดสุปัฏนาราม และจารึกปากน้ำมูล เคลื่อนย้ายไปไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี

           ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม  จารึกปากน้ำมูล เป็นศิลาจารึกทำด้วยหินทรายน้ำตาล ประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 สมัยเจนละ ลักษณะเป็นรูปเสมาสี่เหลี่ยด้านเท่า จำนวนสองหลัก จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ขนาดกว้าง 35 เซนติเมตร สูง 250 เซนติเมตร หนา 36 เซนติเมตร น้ำหนัก 8 ตัน ตัวอักษรค่อนข้างเรียวยาวเล็กน้อย พบบริเวณใกล้ปากแม่น้ำมูล ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม ทั้งสองหลักขนาดเท่ากัน มีข้อความเหมือนกัน ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี ข้อความในศิลาจารึกเป็นข้อความเดียวกับจารึกถ้ำภูหมาไน ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม มีใจความปรากฏตามที่นายชะเอม แก้วคล้าย อ่านแปลและวิจารณ์รูปอักษร นายชูศักดิ์ ทิพย์เกษร นายจิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยาตรวจ ดังต่อไปนี้

           พระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด ทรงพระนามว่าจิตรเสน ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าศรีวีรวรมันเป็นพระราชนัดดาของพระเจ้าศรีสารวเคามะ (แปลตามศัพท์ที่อ่าน) แม้ศักดิ์จะเป็นพระอนุชา แต่ก็เป็นพระเชษฐาของพระเจ้าศรีภววรมัน ผู้มีพระนามปรากฏในด้านคุณธรรมแต่พระเยาว์ พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นั้นได้รับพระนามอันเกิดจากการอภิเษกว่า พระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน หลังจากชนะประเทศ(กัมพูชา) นี้ทั้งหมดแล้ว ได้สร้างพระศิวลึงค์อันเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องหมายแห่งชัยชนะของพระองค์ไว้บนภูเขานี้