วัดสุปัฏนาราม ณ ตำบลในเมือ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร เป็นวัดธรรมยุตวัดแรกในเมืองอุบลราชธานี อยู่ริมแม่น้ำมูล ทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด เขตเทศบาลเมืองอุบลราชธานี สร้างเมื่อ พ.ศ. 2396 สมัยพระพรหมราชวงศา (พระอุปราชกุทอง) เป็นเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 3 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 สร้างวัดเสร็จแล้วพระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนารามมีความหมายของคำ 2 นัย คือ หนึ่ง หมายถึง วัดที่มีสถานที่ตั้งเหมาะสมเพื่อเป็นท่าเรือที่ดี เพราะอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลที่สะดวกในการเดินทางและการบิณฑบาต สอง หมายถึง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศาสนสถาน เปรียบดั่งท่าเรือที่ดีที่อำนวยความสะดวกให้แก่มวลมนุษย์ข้ามพ้นโอฆสงสารไปได้
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดสุปัฏนาราม โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้กรมการเมืองอุบลราชธานี มีพระพรหมราชวงศา (พระอุปราชกุทอง) เป็นประธานเลือกพื้นที่และดำเนินการสร้างวัดเมื่อ พ.ศ. 2393 ณ บริเวณท่าเรือ ระหว่างบ้านบุ่งกาแซว (ปัจจุบันเรียกบุ่งกะแทว) โดยเฉพาะเป็นสถานที่สงัด เหมาะในการบำเพ็ญศาสนกิจและสะดวกโคจรบิณฑบาต แล้วประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อ พ.ศ. 2396 ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพรหมราชวงศาอาราธนาพระพันธุโลเถร (ดี) และพระเทวธมฺมี (ม้าว) มาครองวัด จนกระทั่ง พ.ศ. 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่า วัดสุปัฏนารามวรวิหาร
สิ่งสำคัญภายในวัด มีดังนี้
พระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม
เป็นโบราณสถานสำคัญและโดดเด่นแห่งหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานหลายสกุลช่าง ทั้งแบบเมืองหลวง ตะวันตก ญวน และแบบจีน ช่างจีนและช่างญวนเป็นผู้ก่อสร้าง เป็นอาคารขนาดใหญ่คล้ายศิลปนิยมสมัยรัชกาลที่ 3 ระหว่างเสาก่ออิฐเป็นรูปโค้งเรือนแก้วแบบโกธิกของฝรั่งเศส หน้าจั่วเรียบเต็มเสมอเสาด้านหน้า (อิทธิพลจีน) มีลายปูนปั้นลายไทยฝีมือช่างญวน ปั้นรูปสิงห์โตหมอบยิ้มแบบญวน
พระอุโบสถวัดสุปัฏนาราม สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 แล้วเสร็จใน พ.ศ. 2473 หลวงสถิตถ์นิมานการ (ชวน สุปิยพันธ์) เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง รูปแบบสถาปัตยกรรมจำแนกเป็น 3 ส่วน คือ หลังคาเป็นแบบไทย ส่วนกลางเป็นแบบยุโรป(เยอรมัน) และส่วนฐานเป็นแบบขอมโบราณ ลักษณะโดดเด่นประการหนึ่ง คือ ไม่มีหน้าต่าง แต่เป็นประตูโดยรอบ ภายในพระอุโบสถมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปสำคัญ เรียกว่า พระสัพพัญญูเจ้า เป็นโลหะหล่อขัดเงา สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 และมีพระพุทธรูปสำคัญอีกหลายองค์
หอศิลปวัฒนธรรม
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2535 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุต่าง ๆ เช่น ทับหลัง จารึก เทวรูป พระพุทธรูป สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ จำนวนมาก เกิดจากผู้มีจิตศรัทธารวบรวม และเป็นสมบัติของวัดที่สะสมมานานพร้อมกับอายุของวัด บางชิ้นเคยตั้ง ณ ด้านหน้าและด้านข้างของพระอุโบสถ เป็นที่เก็บอัฐิของตระกูลเก่าแก่เมืองอุบลราชธานี ทั้งนี้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมตามเวลาที่กำหนดอันเป็นการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง
โบราณวัตถุที่สำคัญได้แก่ ทับหลัง พระพิฆเนศศิลา ตู้พระธรรมลายรดน้ำ เครื่องถ้วยชาม เป็นต้น จารึกวัดสุปัฏนาราม หอศิลปวัฒนธรรม วัดสุปัฏนาราม มีจารึก 3 หลัก คือ
หลักที่ 1 จารึกหินทราย รูปทรงคล้ายใบเสมา จารึกด้วยตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต จำนวน 1 ด้าน 6 บรรทัด มีข้อความในจารึกและลักษณะรูปอักษรเหมือนกับจารึกปากมูล มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12
หลักที่ 2 จารึกด้วยอักษรที่วิวัฒนาการมาจากอักษรปัลลวะ เรียกว่า อักษรขอมโบราณ เป็นภาษาเขมร เช่น มีคำว่า กมรเตง เป็นคำนำหน้ากษัตริย์ หรือเจ้า หรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 - 15
หลักที่ 3 จารึกด้วย อักษรเทวนาครี เป็นภาษาสันสกฤต-เขมร มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14 - 18