วัดมหาวนาราม ชาวอุบลเรียก วัดป่าใหญ่ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดอุบลราชธานี มีอายุกว่า 200 ปีแล้ว เริ่มก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์เมื่อ พ.ศ. 2335 หลังจากก่อตั้งเมืองอุบลราชธานีได้ 13 ปี (พ.ศ. 2322) ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่เมืองอุบลราชธานีได้รับสถาปนาเป็นเมืองอุบลราชธานี-ศรีวนาไล-ประเทศราช ระยะแรกเรียกว่า วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดี แล้วเรียกต่อมาว่า วัดป่าใหญ่ หรือ มหาวัน ตามสถานที่ก่อตั้งซึ่งเป็นป่า แล้วเปลี่ยนชื่อตามสมัยนิยมว่า วัดมหาวนาราม เมื่อ พ.ศ. 2488 เป็นวัดตามกฎหมายเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2460 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 และได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 เป็นพระอารามหลวงแห่งเดียวของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายในจังหวัดอุบลราชธานี ณ เลขที่ 183 ถนนหลวง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีเนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวาเศษ ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 1943 จังหวัดอุบลราชธานี
วัดมหาวนารามมีความสำคัญต่อชาวอุบลราชธานีทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตอย่างมาก เพราะเป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมือง เป็นสถานที่ประดิษฐานพระเจ้าใหญ่อินแปงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนทั่วไปเคารพสักการบูชา ในหลักศิลาจารึกที่ฝังอยู่บนแท่นด้านหลังชุกชีพระเจ้าใหญ่อินแปง จารึกว่าสร้างเมื่อจุลศักราช 154 (พ.ศ. 2335) ปีวอก พระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 เสวยเมืองอุบลราชธานีได้ 15 ปี จุลศักราช 167 (พ.ศ. 2348) ปีระกา ได้สร้างวิหารอารามใน วัดป่าหลวงมณีโชติศรีสวัสดี เพื่อเป็นที่บำเพ็ญแก่พระพุทธรูป จุลศักราช 169 (พ.ศ. 2350) ปีเถาะ พระมหาราชครูสีสัทธรรมวงศา เจ้าอาวาสรูปแรกนำลูกศิษย์และญาติโยมทั้งหลายสร้างพระพุทธรูปอินแปง พร้อมทั้งนำดินทรายเข้าวัดเสร็จเมื่อเดือนเมษายน วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ตรงกับวันอาทิตย์ เวลาบ่าย 3 โมง ในนักขัตฤกษ์ 12 ราศีกันย์ พระอินแปง หรือ พระเจ้าใหญ่อินแปง ก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง มีหน้าตักกว้างประมาณ 3 เมตร สูงประมาณ 5 เมตร เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนทุกหมู่เหล่าเลื่อมใสศรัทธามากในหลักศิลาจารึกปรากฎความตอนหนึ่งว่า พญาตนใดมานั่งกินเมืองที่นี่แล้ว ให้เคารพสักการะพระเจ้าใหญ่อินแปงด้วย เครื่องสักการะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ให้มีมหรสพสมโภชเมื่อถึงเพ็ญเดือนห้า เมษายนของทุกปี ดังนั้นจึงจะได้ความวุฒิศรีสวัสดิ์แก่ชาวบ้านชาวเมือง ด้วยเหตุว่าพระเจ้าใหญ่อินแปงนี้ประกอบด้วยบุญคุณมากมาย
วัดมหาวนารามยังมีความสำคัญอีกด้านหนึ่งคือ เป็นแหล่งศึกษาเล่าเรียนทั้งทางโลกและทางธรรมมาแต่อดีตอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน เพราะเป็นวัดที่มีการศึกษา ทั้งด้านปริยัติธรรมแผนกธรรม-บาลี แผนกสามัญศึกษา และระดับอุดมศึกษา ตลอดจนจัดการศึกษาสงเคราะห์แก่เยาวชนจังหวัดอุบลราชธานี
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม พระพุทธรูป พระเจ้าใหญ่อินแปง เป็นพระพุทธรูปก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 3 เมตร สูง 5 เมตร ในศิลาจารึกวัดป่าใหญ่ได้บันทึกประวัติว่าพระครูศรีสัทธรรมวงศา เจ้าอาวาสสร้างเสร็จเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง จุลศักราช 169 พ.ศ. 2350 ตรงกับสมัยเจ้าเมืองอุบลราชธานีคนที่ 2 (พระพรหมวรราชสุริยวงศ์) เป็นพระพุทธรูปที่ประชาชนเคารพเลื่อมใสมากที่สุดในจังหวัดอุบลราชธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23
จารึกวัดมหาวนาราม เป็นจารึก 7 หลัก
หลักที่ 1 - 2 จารึกบนแผ่นหินสีดำเนื้อละเอียด หลักที่ 1 มีขนาดใหญ่กว่า จารึกด้วยอักษรธรรมอีสานเป็นภาษาไทย กล่าวถึง วัน เดือน ปี ฤกษ์ ยาม การสร้างพระเจ้าใหญ่อินแปง การปกครอง และการทำนุบำรุงพระศาสนา
หลักที่ 3 - 7 จารึกบนฐานพระพุทธรูปสำคัญที่สร้างพร้อมกับพระเจ้าใหญ่อินแปง สร้างโลหะ 4 องค์ อีก 1 องค์สร้างด้วยศิลานาคปรก จารึกด้วยอักษรธรรมอีสานเป็นภาษาไทย-บาลี ปัจจุบันอยู่ข้างชุกชีพระเจ้าใหญ่อินแปง วิหารวัดมหาวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23
สิมวัดมหาวนาราม หรือวัดป่าใหญ่
วัดป่าใหญ่เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญวัดหนึ่งตั้งแต่สมัยพระพรหมวรราชสุริยวงศ์ เจ้าเมืองคนที่สองสร้างพร้อมพระพุทธรูปสำคัญ คือ พระเจ้าใหญ่อินแปง ปัจจุบันได้รื้อสิมไปแล้ว แต่สังเกตได้จากรูปถ่ายเป็นสิมโปร่งฝีมือไทย-อีสานแท้ เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานก่อเอวขันธ์ปากพาน (บัวคว่ำ-บัวหงาย) แต่ผนังด้านพระประธานก่อสูงขึ้น ผนังก่อด้วยอิฐดินฉาบด้วยประทาย (ปูนขาวผสมทรายและยางบง) หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวมุงแป้นไม้ โครงสร้างไม้เนื้อแข็ง เปิดเพดาน บิดหน้าจั่วทั้งสองด้านรายรำยองเป็นแบบเรียบง่าย ไม่มีช่อฟ้า (โหง่ว) นาคสะดุ้ง และหางหงส์