วัดใต้เทิง หรือวัดใต้ ตั้งอยู่เลขที่ 2 ถนนสุนทรวิมล ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 9 ไร่ 403/10ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 1310 อาณาเขต ทิศเหนือ จดถนนเขื่อนธานี ,ทิศใต้ จดถนนพรหมราช , ทิศตะวันออก จดถนนสุนทรวิมล , ทิศตะวันตก จดถนนพรหมราช  มีที่ธรณีสงฆ์จำนวน 1 แปลง เนื่อที่ 1 ไร่ 1 งาน 331/10 ตารางวา โฉนดที่ดินเลขที่ 2267 อาคารเสนาสนะประกอบด้วย

 อุโบสถ กว้าง 9 เมตร ยาว 25 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2522

 ศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485

 กุฏิสงฆ์ จำนวน 13 หลัง เป็นอาคารไม้ 1 หลัง ครึ่งตึกครึ่งไม้ 7 หลัง และตึก 5 หลัง

 วิหารกว้าง 3 เมตร ยาว 9 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2538

 ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง 11 เมตร ยาว 13 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2524 และศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีต และไม้

         ปูชนียวัตถุมี พระประธาน เนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย มีนามว่า พระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปยืน เนื้อสำริด 2 องค์ พระพุทธรูป ขนาดหน้าตักกว้าง 39 นิ้ว จำนวน 7 องค์ พระพุทธรูปเจตมุลเพลิงดำสนิท 1 องค์ พระพุทธรูปหิน ปางประทานพร 1 องค์ และโบราณวัตถุตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ จำนวน 3 หลัง

 

 

        วัดใต้เทิง ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2432 ผู้ที่บริจาคที่ดินให้สร้างวัด คือ ต้นตระกูลสุวรรณกูฏ และต้นตระกูลเฟื้องทอง เดิมมีอยู่ 2 วัด คือ วัดใต้ท่า และวัดใต้เทิง ต่อมาพระมหาวีรวงศ์ และพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ได้รวมวัดใต้ท่า ให้มาขึ้นกับวัดใต้เทิงเป็นวัดเดียวกัน และเรียกว่า วัดใต้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาส เท่าที่ทราบนาม คือ 

 รูปที่ 1 พระอุบาลีคุณูปมาจารย์

 รูปที่ 2 พระสีทา

 รูปที่ 3 พระเสาร์ กนฺตสีโล

 รูปที่ 4 พระสิงห์

 รูปที่ 5 พระปัญญาพิศาลเถร

 รูปที่ 6 พระบุญศรี

 รูปที่ 7 พระบุดดี

 รูปที่ 8 พระสุวรรณ สุจิณฺโณ

 รูปที่ 9 พระเพ็ญ

 รูปที่ 10 พระปลัด สิงห์ สุวโจ

 รูปที่ 11 พระวินัยสารสุธี

 รูปที่ 12 พระปลัดมานิตย์ โอภาโส

 รูปที่ 13 พระศรีจันทรคุณ

 รูปที่ 14 พระครูประจักษ์อุบลคุณ ตั้งแต่ พ.ศ. 2517 เป็นต้นมา

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม  มี จารึก 2 หลัก คือ 

หลักที่ 1 จารึกบนไม้สักทองด้วยอักษรธรรมอีสานเป็นภาษาไทย ลักษณะเป็นรูปใบเสมา ขนาดกว้าง 55 เซนติเมตร สูง 143 เซนติเมตร หนา 9 เซนติเมตร 

หลักที่ 2 จารึกบนแผ่นศิลาทรายแดงด้วยอักษรธรรมอีสานเป็นภาษาไทย ลักษณะเป็นรูปใบเสมาขนาดกว้าง 67 เซนติเมตร สูง 82 เซนติเมตร หนาเซนติเมตร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23 ไม่มีรายละเอียดเรื่องราวการจารึก ปัจจุบันอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร

          พระเจ้าองค์ตื้อ มี 2 องค์ องค์แรกอยู่ที่วัดพระโต บ้านปากแซง ตำบลพราน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี พระพุทธรูปก่อสร้างด้วยอิฐถือปูนลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง 1.50 เมตร สูง 2 เมตรเศษ ศิลปะลาว เป็นพระพุทธรูปก่าแก่ที่ประชาชนชาวไทย-ลาว เคารพเลื่อมใสมาก อายุราวพุทธศตวรรษที่ 23 ส่วนอีกองค์เป็นพระประธานในอุโบสถวัดใต้เทิง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะและอายุคล้ายคลึงกับพระเจ้าองค์ตื้อองค์แรก