วัดแจ้ง ตั้งอยู่บนถนนสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย อาคารเสนาสนะประกอบด้วย
- อุโบสถ กว้าง 6 เมตร ยาว 14 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2455
- ศาลาการเปรียญ กว้าง 16 เมตร ยาว 30 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2527
- กุฏิสงฆ์ จำนวน 10 หลัง เป็นอาคารไม้ 5 หลัง และตึก 5 หลัง
- ศาลาบำเพ็ญกุศล จำนวน 2 หลัง สร้างด้วยคอนกรีต
ปูชนียวัตถุมีพระประธานองค์ใหญ่ ขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร สูง 3.35 เมตร ก่อด้วยอิฐถือปูน และพระประธานองค์เล็ก จำนวน 10 องค์ อุโบสถ ซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุไว้ และมีธรรมาสน์โบราณมียอดเป็นบุษบก
วัดแจ้ง ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2418 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2436 การบริหารและการปกครองมีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ
- รูปที่ 1 พระหอ พ.ศ. 2431 - 2440
- รูปที่ 2 พระเพ็ง พ.ศ. 2440 - 2457
- รูปที่ 3 พระมั่น พ.ศ. 2457 - 2467
- รูปที่ 4 พระมั่น อานนฺโท พ.ศ. 2467 - 2478
- รูปที่ 5 พระสี สนฺติปาโล พ.ศ. 2478 - 2489
- รูปที่ 6 พระมหาสาย กิตฺติวณฺโณ พ.ศ. 2489 - 2504
- รูปที่ 7 พระครูโอภาสศาสนกิจ ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา
อุโบสถ(สิม) วัดแจ้ง ตามประวัติที่จารึกไว้ในหนังสือมีการก่อสร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2545 ซึ่งญาท่านเพ็ง(หลวงเพ็ง) ควบคุมการก่อสร้าง สันนิษฐานว่าเป็นช่างหลวงของเมืองอุบลราชธานี โครงสร้างคล้ายสิมวัดบ้านตำแย แต่ฝีมือและลวดลายระเอียดกว่ามาก เป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นด้านมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาวจังหวัดอุบลราชธานี จึงได้มีการดูแลรักษาอย่างดีในปัจจุบัน เป็นโบราณสถานที่ได้รับการอนุรักษ์ยอดเยี่ยม จนได้รับพระราชทานเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ สถาปนิก
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม เป็นสิมทึบรับอิทธิพลทางภาคกลาง ก่ออิฐถือปูนขนาด 3 ห้อง มีมุขหน้าประตู ทางเข้าด้านเดียว หน้าต่าง 3 บาน กรอบหน้าต่างเป็นรังผึ้งย้อยลงมา ส่วนกรอบล่างเป็นลูกกรงสลักลายเช่นเดียวกัน โครงหลังคามุกหน้าใช้เสากลม 4 ต้น รับหน้าบัน (แผงสีหน้า) มีรังผึ้งย้อยรวงแหลมลงระหว่างเสาทั้ง 3 ช่วง กระจังรวนแกะเป็นไม้ขึ้นไปติดจึงลอยโดดเด่น ออกจากพื้นหลังมากกว่าสลักลงไปในเนื้อไม้ ยอดแหลมส่วนบนเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณแต่สูญหายไปแล้ว ส่วนช่วงล่างลงมาแกะเป็นดอกพุดตาน ทำเป็นชิ้น ๆ นำไปติดปะไว้เช่นกัน หลังคาทรงจั่วสูงมีปีกนก 2 ข้าง เดิมมุงหลังคาด้วยแป้นเกล็ด ต่อมา พ.ศ. 2493 เปลี่ยนเป็นกระเบื้องดินขอ และ พ.ศ.2513 ได้ซ่อมหลังคาชำรุดให้คงทนขึ้น คงมีการบูรณะเครื่องไม้ตกแต่งด้านบนพร้อมกัน ต่อมา พ.ศ. 2527 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานที่ควรแก่การอนุรักษ์
ส่วนรูปแบบโดดเด่นของสิมนั้น เป็นทรงที่ตอบสนองประโยชน์ใช้สอยตรงไปตรงมา หลังคาลดขึ้นอย่างเรียบง่าย ฐานเอวขันธ์ที่เป็นฐานบัวด้วยช่างพื้นฐาน และคันทวยแกะสลักแบบหยาบ ๆ เมื่อเทียบกับสิมอีสานหลังอื่น ๆ ส่วนการแกะสลักสีหน้า (หน้าบัน) ค่อนข้างเต็มที่แต่เรียบง่าย อาจเป็นเพราะไม่ใช้สีสันฉูดฉาดที่นิยมกันเช่นสมัยใหม่ ตัวโหง่ ช่อฟ้า หางหงส์ เป็นรูปแบบของสกุลช่างเมืองอุบลที่นิยมกันมาก บันได หน้าแข่ (จระเข้) เหหัวลงมีลักษณะกบดานเพื่อคอยเฝ้ารักษา
ต่อมา พ.ศ. 2530 กรรมาธิการสถาปนิกอีกสานของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาให้รางวัลชนะเลิศการอนุรักษ์อาคารทางศาสนาดีเด่นให้แก่วัด ทั้งนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาพระราชทานรางวัลเกียรติบัตรในงานนิทรรศการ สถาปนิก 30 กรุงเทพมหานคร