วัดโพธิ์ศรีทุ่งใหญ่ ณ บ้านทุ่งใหญ่ ตำบลบ้านไทย อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี เดิมเรียกว่า วัดบ้านขะโหมย แปลว่า บ้านเขมร ตั้ง ณ บริเวณด้านทิศเหนือบ้านทุ่งใหญ่ สภาพพื้นที่เป็นเนินดินขนาดใหญ่ และสูงกว่าส่วนอื่นโดยรอบ บริเวณวัดมีชิ้นส่วนของโบราณวัตถุ เช่น พระพุทธรูปหินทราย ใบเสมาหินทราย และศิลาแลง แท่นประติมากรรมหินทรายตกหล่นอยู่ทั่วไป นอกจากนั้นมีชิ้นส่วนของซากอาคารโบราณสถานที่เป็นแท่งหินทราย และศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าจำนวนหลายชิ้น รวมทั้งกรอบประตูหินทรายที่ถูกทิ้ง และใบเสมาหินทราย 1 ชิ้น จารึกเป็นอักษรขอมเมื่อ พ.ศ. 1521 - 1621
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม ศิลาจารึกวัดโพธิ์ศรี (วัดทุ่งใหญ่) มี 2 หลัก
- ลักษณะ
1.1 รูปร่าง เป็นศิลาจารึกรูปเสมา ทำด้วยหินทรายสีแดง ตัวอักษรไม่ชัดเจน
1.2 ขนาด
หลักที่ 1 กว้าง 55 ซ.ม. หนา 10 ซ.ม. สูง 86 ซ.ม.
หลักที่ 2 กว้าง 60 ซ.ม. หนา 16 ซ.ม. สูง 150 ซ.ม.
1.3 อักษร
หลักที่ 1เป็นอักษรอินเดียใต้รุ่น 3 หลังปัลลวะ มีจารึกทั้ง 2 ด้าน แต่ไม่ชัดเจน
หลักที่ 2 ลักษณะอักษรเช่นเดียวกับหลักที่ 1 แต่มีอักษรเพียง 2 บรรทัด ด้านเดียว
1.4 สมัยจารึก ประมาณ พุทธศตวรรษที่ 14 - 15 ทั้ง 2 หลัก
- ศิลาจารึกทั้ง 2 หลักนี้ ตั้งอยู่บริเวณหอพระหลังเล็ก ๆ ที่เก็บโบราณวัตถุ อยู่ทางด้านข้างของอุโบสถ วัดโพธิ์ศรี (วัดทุ่งใหญ่)
- ประวัติ ทราบจากพระครูขันติคุณาภรณ์ ว่าศิลาจารึกทั้งสองหลักนี้อยู่ที่นี่มาแต่เดิม ไม่มีการเคลื่อนย้าย
- สาระสำคัญ เนื่องจากศิลาจารึกหลักนี้ได้อยู่ที่นี่มาแต่เดิม แสดงให้เห็นว่า บริเวณหมู่บ้านทุ่งใหญ่เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ใน
อดีตอย่างเห็นได้ชัด เพราะนอกจากจะมีศิลาจารึกอยู่ที่นี่แล้ว ยังพบใบเสมาศิลา และฐานศิวลึงค์หลงเหลืออยู่