วัดบูรพาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกสุดของเมือง พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ได้สร้างถวายพระสีทา ชยเสโน แห่งวัดศรีอุบบล ด้วยศรัทธาที่เห็นว่าท่านนั่งวิปัสสนากรรมฐาน ณ บริเวณที่นี้ซึ่งเดิมเป็นป่าเป็นประจำวัดนี้สร้างขึ้นในราวปีพ.ศ.2436 - 2453 เป็นต้นกำเนิดของบูรพาจารย์สายวิปัสสนาธุระที่สำคัญหลายรูปเช่นหลวงปู่เสาร์ กนตสีโล เป็นต้น

           หอไตร การสร้างหอไตรนี้ มาจากพื้นฐานความเชื่อของการนับถือศาสนาพุทธ โดยมีจุดมุ่งหมายหลักในการสร้างคือ เพื่อเป็นที่เก็บหนังสือ คัมภีร์ใบลาน ที่ถือเป็นตัวแทนของพระธรรมคำสั่งสอนเป็นของสูงที่ต้องกราบไหว้บูชา หอไตรจึงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในทัศนคติของชาวบ้าน

           หอไตรวัดบูรพาราม เป็นหอไตรที่สร้างไว้บนบก ต่างจากหอไตรวัดทุ่งศรีเมืองที่สร้างไว้กลางน้ำ ลักษณะอาคารเป็นเรือนไม้ 2 หลัง คู่กันยกพื้นสูงด้วยเสาไม้กลมหลังละ 8 ต้น ฝาผนังอาคารเป็นแบบก้างปลาส่วนประกอบอื่น ๆ ไม่อาจมองเห็นรูปแบบได้ชัดเจน เนื่องจากได้พังไปหมดแล้ว

          หอไตรวัดบูรพารามแห่งนี้ นับได้ว่าเป็นการถ่ายทอดทางวัฒนธรรมในด้านของสถาปัตยกรรม และศิลปกรรมของบรรพชนที่สำคัญแห่งหนึ่ง ดังนั้นเมื่อโบราณสถานอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติได้เกิดการชำรุดทรุดโทรมจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้มีสภาพดีดังเดิมเพื่อเป็นการรักษาไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมของชาติสืบไป

 

          ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม เป็นเรือนไม้หลังคาจั่วหน้าจั่วลายแสงตะวันฝาผนังตีไม้เป็นแนวเฉียงลายก้างปลาผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละ 3 บานรองรับด้วยหย่องลายแข็งสิงห์ตอนล่างของตัวเรือนตกแต่งด้วยลายบัวฟันยักษ์ประดับกระจกสีเหลืองขาวเขียวยกพื้นสูงด้วยเสาไม้กลมหลังละ 8 ต้น หอไตรวัดบูรพารามเป็นหอบกคือสร้างอยู่บนพื้นดิน เป็นอาคารเรือนไม้ 2 หลังเคียงกัน แต่ละหลังเป็นเรือนแบบ 3 ห้อง เสากลมยกพื้นสูงมีอาคารเชื่อมทั้งสอง ปัจจุบันชานได้หักพังลงหมดแล้ว อาคารหลังทิศใต้ฝีมือประณีตมาก ฝาไม้แบบก้างปลา ไม้พรึงแกะสลักเป็นลวดลายกลีบบัวรอบอาคาร และไม้ลายเท้าสิงห์รองรับกรอบหน้าต่างหลังคาทรงจั่วมุงแป้นไม้หน้าบันกรุไม้รูปรัศมีพระอาทิตย์ เชิงชายมีไม้ฉลุลายโดยรอบ ไม่ปรากฏว่าปั้นลมมีลักษณะอย่างใด เนื่องจากอาคารหอไตรทั้งสองหลังทรุดโทรมมาก แต่ยังคงมองเห็นลักษณะโครงสร้างได้อย่างชัดเจน อาคารหลังทิศเหนือฝีมือการก่อสร้างหยาบกว่าทิศใต้โดยเฉพาะลวดลาย ผนัง และการตกแต่งกรอบหน้าต่าง

        หลังการบูรณะในปี 2545 ได้มีการบูรณะหอไตร อุโบสถ และการปรับภูมิทัศน์ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์แข็งแรง ประกอบกับสิ่งแวดล้อมซึ่งจัดทำไว้อย่างเหมาะเจาะมีความสอดประสานกันอย่างกลมกลืน ขับเน้นความสง่างามของโบราณสถานให้โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง และจะดำรงอยู่ในสภาพเช่นนี้ไปอีกเนิ่นนาน