ประวัติวัดพัทธสีมามังคลาราม (วัดบ้านเปลือยใหญ่) ไม่พบหลักฐานการสร้างวัดที่แน่ชัด ภายในมีโบราณสถานสำคัญ คือ สิม ที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๑ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๔๗๕ โดยช่างชาวญวน ชื่อ ใจ และจิตรกรรมภายในสิมวาดโดยช่างชาวญวน ชื่อ คำกาบ

          สิมมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นทรงพื้นถิ่นอีสานอิทธิพลศิลปะญวน ตามหลักฐานที่ปรากฏในลวดลายตกแต่งอาคาร เช่น การตกแต่งด้วยกรอบเส้นคิ้ววงโค้งเหนือซุ้มประตู และรูปนาค เป็นต้น ตัวสิมสร้างก่ออิฐถือปูนขนาด ๓ ห้อง ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งบนฐานบัวสูง มีประตูตอนกลางด้านหน้า บานประตูเป็นไม้แกะสลักลายเครือเถา เหนือบานประตูประดับพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง ผนังด้านข้างประตูทำเป็นซุ้มหลอก ภายในซุ้มปั้นปูนเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับยืน มีหน้าต่างด้านละ ๒ บาน บานหน้าต่างเป็นไม้แกะสลักลายเครือเถา แต่งกรอบหน้าต่างด้วยการเขียนภาพให้เป็นซุ้มพระ ห้องสุดท้ายไม่มีหน้าต่าง แต่แต่งผนังด้วยซุ้มหลอก ประดิษฐานพระพุทธรูปประทับนั่ง เช่นเดียวกับผนังด้านหลังที่ทำเป็นซุ้มหลอกจำนวน ๒ ซุ้ม ประดิษฐานพระพุทธรูปยืน มีบันไดทางขึ้นด้านหน้ายื่นออกมาจากอาคารถึงกำแพงแก้ว ราวบันไดแต่งนาคปูนปั้น โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาแบบจั่ว ในตอนกลางยกหลังคาจั่วขนาดเล็กซ้อนลดหลั่นกัน ๒ ชั้น ต่อหลังคาปีกนกทั้งสองข้าง หลังคาประดับโหง่ ใบระกา หางหงส์ สันหลังคาตอนกลางประดับช่อฟ้าเป็นบัวซ้อนกัน ๖ ชั้น หน้าบันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ประดับปูนปั้นรูปครุฑกับนาค ภายในประดิษฐานพระประธานบนฐานชุกชี ฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน ผนังด้านในเขียนภาพจิตรกรรมในส่วนเหนือหน้าต่างขึ้นไป เป็นภาพเกี่ยวกับเวสสันดรชาดก และเรื่องนรกสวรรค์ รอบสิมมีใบเสมาหินทรายสีแดงปักอยู่ทางทิศเหนือและทิศใต้ ด้านละ ๓ ใบ ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วที่มียอดเสากำแพงตกแต่งเป็นรูปกระเปาะคล้ายดอกบัว มีทางเข้า ๓ ด้าน ยกเว้นด้านทิศตะวันตก

          เอกลักษณ์ของสิมวัดพัทธสีมามังคลาราม คือ การเป็นสิมพื้นถิ่นอีสานที่ได้รับอิทธิพลการตกแต่งประดับจากศิลปะญวนในรุ่นปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย