วัดศรีฐาน ตั้งอยู่ที่ต.เทอดไทย อ.ทุ่งเขาหลวง จ.ร้อยเอ็ด เอกสารกล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๓๖๙ ภายในวัดศรีฐานมีโบราณสถานสำคัญ คือ สิม ที่สร้างระหว่างปี พ.ศ.๒๓๖๙ - ๒๓๙๘

          สิมมีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นทรงพื้นถิ่นอีสาน ตั้งบนฐานเอวขัน สร้างก่ออิฐถือปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออกในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นสิมขนาด ๓ ห้อง มีกำแพงแก้วล้อมรอบ ตรงกลางผนังด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้า ไม่มีมุขโถงด้านหน้า โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับโครงสร้างหลังคาจั่วที่ซ้อนกัน ๓ ชั้น มุงแป้นเกล็ด ซึ่งได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบพม่า ตกแต่งจั่วหลังคาด้วยโหง่ ใบระกาแบบนาคสะดุ้ง และหางหงส์แบบกนกหัวม้วน หน้าบันตีไม้ลายแสงตาเวน(ตะวัน) รวงผึ้งเป็นลายกนกเครือ ในส่วนปลายโค้งแหลมของรวงผึ้ง ด้านใต้แกะเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ด้านเหนือแกะเป็นครุฑยุดนาค มีรูปนิทานพื้นบ้านแทรก เช่น หงส์หามเตา หรือหัวล้านชนกัน ประตูแกะเป็นลายเครือเถาพื้นถิ่นอีสาน ด้านล่างประตูบานหนึ่งแกะรูปบุคคลแผลงศร อีกบานหนึ่งแกะรูปยักษ์ถือตรีศูล คันทวยเป็นไม้แกะสลักรูปนาค บางชิ้นแต่งเป็นรูปบุคคลเล็กๆเหนือนาค บริเวณบันไดทางขึ้นประดับไม้แกะสลักที่ย้ายมาจากด้านหน้าศาลาหอแจก (ศาลาการเปรียญ) หลังเก่า เป็นรูปพระเวสสันดรแบกชาลี และนางมัทรีอุ้มกัณหา เดิมรอบสิมด้านนอกมีใบเสมาปักอยู่ที่มุมสิมเรียงซ้อนกัน ๓ ใบ (ปัจจุบันเหลือ ๒ ใบ) และเหลือเพียงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทิศตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น

 

 

          เอกลักษณ์ของสิมวัดศรีฐาน คือ การทำลวดลายไม้แกะสลักที่วิจิตรงดงาม โดยได้แสดงฝีมือขั้นเชิงช่างอีสานอันงดงามในรุ่นพุทธศตวรรษที่ ๒๔

          กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดพื้นที่โบราณสถานวัดศรีฐาน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๕ พื้นที่โบราณสถานมี ๒ ไร่ ๑ งาน ๔๐ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุด พ.ศ.๒๕๕๔ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย