ประวัติปราสาทหินบ้านหนองคูณ (ดอนขุมเงิน) เป็นบ่อน้ำโบราณศักดิ์สิทธิ์ในเมืองร้อยเอ็ด สร้างขึ้นตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ สมัยพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน (จิตรเสน) เมื่อพระองค์ทรงขยายอำนาจเข้ามาในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ดังหลักฐานจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต ที่จารึกบนขอบฐานรูปเคารพ และบนผนังบ่อน้ำ
ภายในปราสาทหินบ้านบ้านหนองคูณ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างภายในกำแพง คือบ่อน้ำตอนกลาง พื้นที่ และกลุ่มศาสนสถานทางด้านทิศเหนือของบ่อน้ำ ที่ปัจจุบันยังไม่ได้ขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดี
ลักษณะการก่อสร้างบ่อน้ำปราสาทหินบ้านหนองคูณ เป็นบ่อน้ำขุดลึกลงไปในพื้นดิน ประมาณ ๖ เมตร ปากบ่อเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๒.๕๐ เมตร ผนังข้างบ่อทั้งสี่กรุด้วยหินทรายสีเหลือง เรียงเป็นแนวเรียบลงไปถึงก้นบ่อที่มีการนำศิลาแลงก้อนเล็กๆ ถมอัดจนแน่น เฉพาะผนังด้านทิศตะวันตกในบ่อน้ำ มีการวางหินยื่นออกมาในลักษณะแนวเฉียงให้เป็นขั้นบันได ได้พบจารึกตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ๔ ตัว บนหิน ๔ ก้อน บนผนังด้านในบ่อน้ำ ๔ ด้านๆละหนึ่งก้อน อักษรทั้งสี่เป็นนามของเทพเจ้าสำคัญในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ อักษร ล ที่ก้นบ่อด้านทิศเหนือ หมายถึง พระอิศวร อักษร ช ที่ก้นบ่อด้านทิศใต้ หมายถึง พระวิษณุ อักษร ป ที่ปากบ่อด้านทิศตะวันตก หมายถึงพระนางปารพตี หรือพระอุมา อักษร ย ที่ปากบ่อด้านทิศตะวันออก หมายถึงพระนางลักษมี เมื่อนำอักษรมาเรียงสลับไปมาจะเป็นบทสรรเสริญเทพเจ้า การจารึกอักษรทั้งสี่บนผนังบ่อน้ำด้านใน สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและความศักดิ์สิทธิ์ของบ่อน้ำดังกล่าว ที่ชาวอีสานยังคงให้ความนับถือมากระทั่งปัจจุบัน ห่างออกไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ่อน้ำ ประมาณ ๔ เมตร พบฐานประติมากรรมหินทราย มีจารึกอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤต เนื้อหากล่าวถึงพระเจ้าศรีมเหนทวรมัน สร้างรูปพระโคแทนองค์พระอิศวรด้วยศิลา และกล่าวถึงพระปรีชาญาณด้านการสงคราม
ความสำคัญของปราสาทหินบ้านหนองคูณ คือ การพบจารึกที่แสดงร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในดินแดนอีสานเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เกี่ยวกับพระเจ้าศรีมเหนทรวรมัน (จิตรเสน) ซึ่งทรงแผ่อำนาจครอบคลุมดินแดนพื้นที่อีสานตอนล่าง อีกทั้งได้ทรงสร้างรูปเคารพตามลัทธิไศวะนิกายและขุดบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดพื้นที่โบราณสถานปราสาทหินบ้านหนองคูณ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ พื้นที่โบราณสถานจำนวน ๕ ไร่ ๓ งาน ๗๕ ตารางวา โบราณสถานแห่งนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๘ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย