กู่วัดธาตุพันขัน ตั้งอยู๋ที่ ต.จำปาขัน อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นศาสนสถานสำคัญตั้งอยู่กลางเมืองจำปาขัน อันเป็นเมืองสมัยทวารวดีที่มีผู้คนอาศัยสืบมาตั้งแต่ ๒,๕๐๐-๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ผังเมืองจำปาขันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๒,๑๐๐ เมตร มีแนวคันดินและคูน้ำล้อมรอบ ภายในเมืองมีบ่อพันขันซึ่งเป็นบ่อน้ำธรรมชาติบนลานหินทรายสีแดง ขนาดกว้าง ๖ นิ้ว ลึก ๑๒ นิ้ว มีน้ำผุดออกมาตลอดเวลา ทั้งในบริเวณนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ที่สำคัญที่สุดของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ตามตำนานพื้นบ้านกล่าวว่าเป็นสถานที่ซึ่งพระโมคลานต่อสู้กับพญานาค
ลักษณะสถาปัตยกรรมกู่วัดธาตุพันขัน เป็นปราสาทเขมรที่พบหลักฐานการสร้างซ้อนทับกันหลายสมัย โดยเริ่มแรกสร้างในสมัยไพรกเมงในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ตามหลักฐานทางโบราณคดีที่พบผังอาคารชั้นในสุด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ คล้ายกับฐานของปราสาทองค์กลางของกลุ่มปราสาทเขาน้อย จังหวัดสระแก้ว ที่กำหนดอายุไว้ในพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ต่อมาพบการสร้างในสมัยบาปวนทับลงบนฐานเดิม ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ลักษณะเป็นปราสาทก่ออิฐในผังสี่เหลี่ยมย่อมุม สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บนฐานสูงมีทางเข้าด้านหน้าด้านเดียว ส่วนอีกสามด้านเป็นประตูหลอก ชั้นหลังคาเหลือเพียง ๒ ชั้น เหนือขึ้นไปพังทลายไม่เหลือหลักฐาน ทั้งนี้โครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของกู่วัดธาตุพันขัน ได้แสดงให้เห็นเทคนิคการเข้าวงกบประตูแบบมีบ่า ที่ต่างออกไปจากการเลียนแบบวงกบแบบเครื่องไม้ที่นิยมทำกันก่อนหน้านั้น ภายในบริเวณกู่วัดธาตุพันขัน พบศิวลึงค์ รูปเอกมุขลึงค์ ที่มีส่วนปลายสลักพระพักตร์พระอิศวร เรียกว่า รุทรภาค ส่วนตอนกลางเป็นรูปแปดเหลี่ยม แทนวิษณุภาค และส่วนล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม แทนพรหมภาค อันเป็นรูปแบบศิวลึงค์ที่พัฒนาขึ้นระหว่างศิวลึงค์รุ่นเก่าในพุทธศตวรรษที่ ๑๕ กับศิวลึงค์รุ่นหลังในพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ ทับหลังสลักเรื่องท้าวหิมวันต์ถวายนางปารพตีแด่พระอิศวร
เอกลักษณ์ของกู่วัดธาตุพันขัน คือ การสะท้อนให้เห็นเทคนิควิธีการสร้างปราสาท และมีรูปแบบศิวลึงค์ที่เปลี่ยนไปในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๖
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดพื้นที่โบราณสถานกู่วัดธาตุพันขัน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ พื้นที่โบราณสถานมี ๑ ไร่ ๘๙ ตารางวา ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๐ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย