ประวัติวัดไตรภูมิคณาจารย์แต่เดิมเรียกว่าวัดป่า เป็นวัดสำคัญแห่งหนึ่งของเมืองร้อยเอ็ด สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๔ ต่อมาวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๓๔๑ จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรภูมิบ้านตากแดด เป็นที่จำพรรษาของพระครูหลักคำ เจ้าคณะแขวงมณฑลโคราชที่ปกครองสงฆ์ภาคอีสานและหัวเมืองขึ้น เช่น เวียงจันทน์ นครจำปาสัก พระตะบอง และศรีโสภณ

         สิ่งก่อสร้างภายในวัด มีสิมที่สร้างเป็นประธานของวัด หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ทิศเหนือและทิศใต้ของสิมเป็นเจดีย์ราย ด้านหลังสิมเป็นศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทองซึ่งย้ายมาจากวัดใต้วิไลธรรมในอำเภอเดียวกัน เป็นพระพุทธรูปแบบพื้นถิ่นอีสาน ลักษณะประทับนั่งปางมารวิชัย พระพักตร์ค่อนข้างกลม ขมวดพระเกศาเล็กและแหลมแบบหนามขนุน พระรัศมีเป็นกรวยสูง พระกรรณใหญ่ยาว พระเนตรเปิด พระนาสิกใหญ่ พระโอษฐ์หนาแย้มเล็กน้อย ครองจีวรห่มดอง สังฆาฏิเป็นแผ่นแบนยาวจรดพระนาภี ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับพระประธานในสิมวัดประตูชัย

 

 

          ลักษณะสถาปัตยกรรมสิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ เป็นอาคารทรงพื้นถิ่นอีสานสร้างก่ออิฐถือปูน ตั้งบนฐานบัวสูงในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๘.๗๐ เมตร ยาว ๖.๑๐ เมตร เป็นห้องประดิษฐานพระประธาน ๒ ห้อง มีหน้าต่าง ๑ บานในแต่ละด้านของแต่ละห้อง ตอนกลางผนังด้านทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้า ด้านหน้าเป็นมุข มีผนังเตี้ยๆ โดยเว้นตอนกลางด้านหน้าเป็นช่องทางขึ้น โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนักหลังคาจั่วชั้นเดียว เฉพาะเสาด้านหน้าเป็นเสาไม้กลม หลังคามุงแป้นเกล็ด ตกแต่งด้วยโหง่ ใบระกาแบบนาคสะดุ้ง และหางหงส์ หน้าบันตีไม้ตามแนวตั้ง รวงผึ้งถูกยืดให้สูงขึ้นเพื่อลดพื้นที่ว่างด้านหน้าสิม ประดับไม้แกะสลักลายกนกเครือเถาแบบพื้นถิ่นอีสาน คันทวยเป็นไม้แกะสลักรูปนาค ภายในสิมเขียนภาพจิตรกรรมพื้นถิ่นอีสาน เรื่องพุทธประวัติ ที่มีลักษณะการเลียนแบบจิตรกรรมจากภาคกลาง โดยเฉพาะการจัดวางองค์ประกอบของภาพและเทคนิคการตัดเส้นด้วยสีดำ 

         เอกลักษณ์ของสิมวัดไตรภูมิคณาจารย์ คือ งานศิลปกรรมประดับสิม ได้แก่ งานไม้แกะสลักที่รวงผึ้ง และงานจิตรกรรฝาผนังซึ่งสะท้อนอิทธิพลศิลปะจากภาคกลาง

        กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดไตรภูมิคณาจารย์ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๐ เนื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๒ งาน ๓๐.๕๗ ตารางวา และสิมหลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๔๐ ส่วนเจดีย์รายด้านทิศเหนือได้รับการบูรณะในปี พ.ศ.๒๕๔๑ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย