ประวัติปรางค์กู่ (กู่บ้านหนองกู่หรือปราสาทหนองกู่) พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นอโรคยาศาล สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ตามแบบศิลปะเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๑) ปัจจุบันตั้งอยู่ในวัดศรีรัตนารามที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๐๐ ตามมีมติชุมชนที่ต้องการสร้างวัดล้อมกู่บ้านหนองกู่ ภายหลังจากที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานใน พ.ศ.๒๔๗๘
ภายในบริเวณกู่บ้านหนองกู่ มีสิ่งก่อสร้างภายในกำแพง ประกอบด้วยปราสาทในตอนกลาง ๑ หลัง และอาคารบรรณาลัยทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ๑ หลัง นอกกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นสระน้ำ เช่นเดียวกับแผนผังกู่กระโดน และกู่คันธนาม
ลักษณะสถาปัตยกรรมกู่บ้านหนองกู่ เป็นปราสาทแบบเขมรที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ค่อนข้างมาก ก่อด้วยศิลาแลงในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าย่อเก็จ มีมุขโถงยื่นออกมาทางทิศตะวันออกเป็นประตูทางเข้า อีก ๓ ด้านที่เหลือเป็นประตูหลอก ตัวปราสาทมีชั้นหลังคาคงเหลือ ๓ ชั้น เหนือขึ้นไปพังทลาย ภายในปราสาทพบทับหลังสลักรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ เสากรอบประตูศิลาแลง ๒ ชิ้น ชิ้นหนึ่งสลักรูปฤาษีที่โคนเสา และศิวลึงค์พร้อมฐาน สำหรับบรรณาลัยเป็นอาคารก่อด้วยศิลาแลง ในผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตก หน้าอาคารมีห้องมุข หน้าห้องมุขมีประตู ส่วนกำแพงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กึ่งกลางกำแพงด้านทิศตะวันออกเป็นซุ้มประตู (โคปุระ) รูปกากบาท กึ่งกลางกำแพงด้านทิศเหนือและใต้มีห้องเล็กๆด้านละหนึ่งห้อง หน้าประตูพบฐานอาคารก่อด้วยศิลาแลงในผังรูปกากบาท สันนิษฐานว่าเป็นพลับพลาเครื่องไม้จากการพบหลักฐานหลุมเสารอบอาคาร
เอกลักษณ์ของปรางค์กู่ คือ การแสดงให้เห็นถึงแผนผังของอโรคยาศาลที่สมบูรณ์ อันเป็นสิ่งก่อสร้างตามวัฒนธรรมเขมรในอีสานเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ดังข้อความตอนหนึ่งในจารึกปราสาทตาพรหม ประเทศกัมพูชา ได้กล่าวถึงการสร้างอโรคยาศาลจำนวน ๑๐๒ แห่งในรัชสมัยพระองค์ โดยในปัจจุบันได้สำรวจพบอโรคยาศาลในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมดแล้วรวม ๓๑ แห่ง
กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนกู่บ้านหนองกู่ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๕ พื้นที่โบราณสถานประมาณ ๒ ไร่ ๒ งาน ๑๗ ตารางวา ปรางค์กู่ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุด พ.ศ.๒๕๕๔ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย