กู่เมืองบัว ตั้งอยู๋ที่ ต.เมืองบัว อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด ชาวเมืองบัวในปัจจุบันน่าจะมีการอยู่อาศัยในที่แห่งนี้มาประมาณ 200 ปีมาแล้ว เมื่อครั้งที่มีการอพยพโยกย้ายผู้คนมาจากเมืองเวียงจันทน์ ชาวเมืองบัวทุกคนทราบว่าหมู่บ้านของตนเป็นเมืองเก่า และมีความเชื่อว่าเป็นเมืองขอม คนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่าในอดีต เมืองบัวมีชื่อว่า เมืองเท เป็นเมืองหน้าด่านของเมืองสาเกตุนคร (ชื่อเดิมของเมืองเกษตรวิสัย)เมื่อมีการตั้งเมืองเกษตรวิสัยราว พ.ศ.2415 แล้ว เมืองเทก็ถูกลดอำนาจลงตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของเจ้าเกษตรวิไชย (อุปราชเหง้า) บ้านดอนสำโรง ต่อมาเมืองเทได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมืองบัว โดยตั้งตามที่มีหนองน้ำทั่วไปในบริเวณนี้ มีดอกบัวหลายชนิดนั่นเอง
ตัวโบราณสถานก่อด้วยศิลาแลง มีหินทรายประกอบบ้างในส่วนที่รองรับน้ำหนัก ผนังก่อทึบทั้ง 4 ด้าน ทำเป็นทางเข้าด้านทิศตะวันออกเพียงด้านเดียว ด้านอื่นทำเป็นประตูหลอก ซึ่งยังเหลือให้เห็นทางด้านทิศใต้ กู่หันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกมีแนวคูน้ำล้อมรอบ
บริเวณปราสาทพบทับหลังรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะขอมแบบบาปวน อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตกอยู่ 1 ชิ้น ในอดีตเคยมีการขุดบริเวณด้านทิศใต้ของปราสาทประธาน พบประติมากรรมรูปบุรุษและสตรี ที่เคยประดิษฐานอยู่บนฐานประติมากรรม ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของปราสาทประธาน ปัจจุบันได้หายไปแล้ว ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่ามีความเกี่ยวพันกับตำนานพื้นบ้าน เรื่อง สังข์ศิลป์ชัย และพบเทวรูปมีศีรษะเป็นช้างลำตัวเป็นมนุษย์ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระคเณศ ซึ่งกลุ่มประติมากรรมรูปบุรุษและสตรี อาจเป็นรูปเคารพของพระศิวะและพระนางอุมา ซึ่งเป็นวงศ์ของพระคเณศและมักพบร่วมกันในโบราณสถานที่อุทิศถวายให้พระศิวะ ดังนั้นกู่เมืองบัวน่าจะเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย รูปแบบศิลปะแบบบาปวนตามรูปแบบทับหลังที่ยังปรากฎอยู่ โดยอาจจะมีการดัดแปลงในพุทธศตวรรษที่ 18 เนื่องจากใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุในการก่อสร้าง ตามแบบโบราณสถานที่นิยมสร้างในช่วงเวลาดังกล่าว หรืออาจจะนำวัสดุก่อสร้างประเภทหินทราย เช่น ทับหลังของสมัยก่อนกลับมาใช้อีกในราวพุทธศตวรรษที่ 18 ก็เป็นได้ แต่เนื่องจากโบราณสถานแห่งนี้ชำรุดหักพังมาก และยังไม่มีการดำเนินการขุดแต่งทางโบราณคดี จึงไม่สามารถกำหนดอายุที่แน่นอนได้ แต่น่าจะมีอายุในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 – 18