กู่กาสิงห์ (วัดบูรพากู่กาสิงห์น้อย) ตั้งอยู่ที่ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ประวัติกู่กาสิงห์ พิจารณาจากรูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นปราสาทหรือเทวาลัยในศาสนาพราหมณ์ ที่สร้างในพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ตามแบบอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร บนพื้นที่ชุมชนโบราณซึ่งอาศัยสืบเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย สร้างเพื่ออุทิศแด่พระอิศวรในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ภายหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พบหลักฐานว่าได้รื้อเอาวัสดุก่อสร้างของกู่กาสิงห์ไปสร้างกู่โพนระฆัง ต่อมาในราวปี พ.ศ.๒๔๔๖ จึงมีกลุ่มชนชาติลาวเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกู่กาสิงห์ โดยเรียกชื่อกู่กาสิงห์ตามประติมากรรมสิงห์ ๒ ตัว ที่ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าซึ่งสูญหายแล้ว ปัจจุบันกู่กาสิงห์ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดบูรพากู่กาสิงห์น้อยที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ชาวบ้านเรียกว่าวัดบูรพากู่น้อยเพราะตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน
ภายในบริเวณกู่กาสิงห์ ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างในกำแพง ได้แก่ ปราสาท ๓ หลัง และอาคารบรรณาลัย ๒ หลัง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาท และสิ่งก่อสร้างนอกกำแพง ได้แก่ คูน้ำรูปตัว U ที่ล้อมรอบกำแพงด้านนอก และสระน้ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท
ลักษณะสถาปัตยกรรมกู่กาสิงห์ เป็นปราสาทอิฐแบบเขมรสมัยบาปวน ๓ หลัง ตั้งบนฐานศิลาแลงเดียวกัน โครงสร้างก่อด้วยอิฐแต่ส่วนประดับใช้หินทราย สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ปราสาททั้ง ๓ หลัง เรียงกันไปตามแนวทิศเหนือทิศใต้ ปราสาทหลังกลางเป็นองค์ประธานที่ภายในประดิษฐานศิวลึงค์ทำจากหินสีเขียว ด้านหน้าปราสาทประธานเป็นมณฑปประดิษฐานโคนนทิ ส่วนปราสาทหลังใต้แต่เดิมอาจจะประดิษฐานเทพบริวารของพระอิศวร บรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลงสร้างหันหน้าอาคารไปทางด้านทิศตะวันตกเข้าสู่กลุ่มปราสาท มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ด้านหน้าต่อห้องมุขเป็นประตูทางเข้า กำแพงก่อด้วยศิลาแลงผสมอิฐ ขนาดกว้าง ๓๕ เมตร ยาว ๕๐ เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อเก็จมีประตูทางเข้า (โคปุระ) รูปกากบาททางด้านทิศตะวันออกและตะวันตก ตอนกลางแนวกำแพงด้านทิศเหนือและทิศใต้ ก่อเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีประตูเชื่อมกับพื้นที่ด้านใน หลักฐานสำคัญที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดี คือเครื่องประดับทองคำรูปนาค ๕ เศียร และแผ่นทองคำที่ใช้ในการวางศิลาฤกษ์ กำหนดอายุสมัยในศิลปะเขมรสมัยบาปวน ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ร้อยเอ็ด
เอกลักษณ์ของปราสาทกู่กาสิงห์ คือ การวางผังอาคารแบบกลุ่มปราสาทอิฐ ๓ หลัง บนฐานเดียวกันที่พบในกลุ่มปราสาทเขมรที่มีอายุหลังพุทธศตวรรษที่ ๑๕ ลงมา เช่นที่กู่พระโกนา และมีความต่างออกไปจากการวางผังอโรคยาศาลที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เช่นที่กู่กระโดน
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนกู่กาสิงห์ ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ และกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๒ เนื้อที่ประมาณ ๑๒ ไร่ ๒ งาน ๓๐.๕๖ ตารางวา ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย