รอยอดีตแห่งโรงราชยาน
เมืองศรีมโหสถและตำแหน่งที่ตั้งของฐานโรงราชยาน
ฐานโรงราชยาน หรือโบราณสถานหมายเลข ๑๖ ตั้งอยู่ ณ มุมตะวันออกเฉียงเหนือ นอกเมืองศรีมโหสถ ประกอบด้วยผนังก่ออิฐสองด้าน (ยาว ๓ และ ๕ เมตร) ขนานกันเป็นช่องห่างกัน ๒.๕ เมตร มีแนวศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมล้อมรอบ ตอนกลางของแนวด้านเหนือสร้างยื่นออกไปเป็นช่องสี่เหลี่ยม ตอนกลางของแนวด้านใต้ เปิดเป็นช่อง ตรงกับช่องของผนังอิฐ สันนิษฐานว่าเป็นโรงเก็บราชยาน มีทางเข้า-ออกด้านใต้
ห่างออกไปเพียง ๑๖๐ เมตรเป็นที่ตั้ง “หอพระแห่งอาโรคยศาล” (พุทธศตวรรษที่ ๑๘) ซึ่งพบส่วนประกอบของราชยาน-คานหามสำริด อาจมีการใช้งานโรงราชยานแห่งนี้มาก่อนแล้ว เนื่องจากการขุดค้นทางโบราณคดียังพบแผ่นดินเผามีรูปสลักนูนต่ำประดับผนังอิฐ ศิลปะทวารวดี พุทธศตวรรษที่ ๑๖ หรือ ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว
ปัจจุบันทั้งส่วนประกอบของราชยาน-คานหามสำริดและแผ่นดินเผามีรูปสลักนูนต่ำนั้น จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
ส่วนประกอบของราชยาน-คานหามสำริด จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
แผ่นดินเผามีสลักรูปบุคคล จัดแสดงที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
แผนผังขึ้นทะเบียนโบราณสถานฐานโรงราชยาน
โบราณสถานฐานโรงราชยาน (โบราณสถานหมายเลข ๑๖) ได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๑๐ ตอนที่ ๒๒๐ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๕