ประตูและปราการตะวันออก
เมืองศรีมโหสถและตำแหน่งที่ตั้งประตูและปราการตะวันออก
เมืองศรีมโหสถเป็นเมืองโบราณที่มีคูน้ำคันดินรูปสี่เหลี่ยมมุมมนล้อมรอบ บริเวณกลางเมือง มีคูน้ำขุดเชื่อมระหว่างคูเมืองด้านเหนือกับคูเมืองด้านใต้ เมืองโบราณมีความกว้าง ๗๐๐ เมตร ยาว ๑,๕๐๐ เมตร คูเมืองขุดลงไปในชั้นศิลาแลงธรรมชาติ ลึก ๑๕-๒๐ เมตร แล้วนำดินมาถมทั้งสองข้างของคูเมือง กว้าง ๑๐ เมตร สูง ๕ เมตร
ภาพถ่ายทางอากาศเมืองศรีมโหสถ
คูน้ำคันดินด้านใต้
เมืองศรีมโหสถมีทางเข้า-ออกหลักคือ ประตูตะวันออก เป็นปราการเมือง เนื่องจากพื้นที่ด้านตะวันออกมีชุมชนและศาสนสถานสำคัญอยู่นอกเมือง จึงต้องมีสิ่งก่อสร้างเพื่อรักษาความปลอดภัย ชาวเมืองฯขุดศิลาแลงใต้ผิวดินเชื่อมคูเมืองให้เป็นคูรูปเกือกม้า ยื่นออกไปนอกเมือง แล้วนำดินลูกรังมาพูนเป็นคันดินเชิงเทินขนาบด้านนอกทั้งสองข้าง เพื่อเป็นฐานที่ตั้งของทหารรักษาประตูเมือง การเข้า-ออกประตูที่มีคูน้ำขวางจึงต้องมีสะพานข้าม สันนิษฐานว่าเป็นสะพานชักจากภายในเมือง ยาวตามความกว้างของคูเมือง มีหอสังเกตการณ์และทหารประจำการ ควบคุมระบบการเข้า-ออกสะพาน ประตูและปราการตะวันออกนี้ นับเป็นส่วนสำคัญต่อความมั่นคงของเมืองจึงสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองที่มีคูคันดินล้อมรอบ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๑ หรือ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว
รูปสันนิษฐานของประตูและปราการตะวันออก
โบราณสถานเมืองศรีมโหสถได้รับการขึ้นทะเบียน ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๕๒ วันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘