อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม(หลังเก่า)
ที่ตั้ง ถนนอภิบาลบัญชา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม
พิกัดทางภูมิศาสตร์ พิกัดแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5943 I ที่ 48QVE769247 ประมาณรุ้งที่ 17 องศา 24 ลิปดา 29.06 ฟิลิปดา เหนือ แวงที่ 104 องศา 46 ลิปดา 55.87 ฟิลิปดา ตะวันออก (ค่าพิกัดจาก GPS ที่ 48 P 476866 1924712 (WGS84))
แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 พิมพ์ครั้งที่ 1-RTSD ลำดับชุด L7018 ระวาง 5943 I ที่ 48QVE769247
แผนที่ทหารแสดงตำแหน่งอาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม(หลังเก่า)
ประวัติอาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม(หลังเก่า) ก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ.2458 ระยะที่พระยาพนมนครานุรักษ์ (อุ้ย นาครทรรพ) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมคนแรก ช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างคือ นายสุมังค์ ปทุมชาติ อดีตปลัดอำเภอและนายช่างชาวญวณชื่อ นายก่าย เป็นหัวหน้าแรงงานในการก่อสร้าง อาคารสร้างแล้วเสร็จในปีพ.ศ.2462 ต่อมาในปีพ.ศ.2483 เกิดกรณีพิพาทไทยกับฝรั่งเศส ทหารฝรั่งเศสได้ระดมยิงปืนใหญ่จากเมืองท่าแขกข้ามแม่น้ำโขงมายังเมืองนครพนม ทำให้ตัวอาคารด้านหน้าชั้นสองถูกลูกปืนใหญ่ได้รับความเสียหายเป็นช่องกว้างและมีรอยร้าวหลายแห่ง กรมศิลปากรได้ทำการซ่อมแซมและได้ใช้เป็นที่ทำการหอสมุดแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ นครพนม สังกัดหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรเมื่อปีพ.ศ.2536 อาคารสร้างหันหน้าไปทางด้านทิศตะวันออกเข้าสู่แม่น้ำโขง โดยมีลักษณะทางศิลปกรรมสถาปัตยกรรมดังนี้
อาคารศาลากลางจังหวัดนครพนม(หลังเก่า) อาคารรูปทรงสถาปัตยกรรมตะวันตกแบบเรอแนซ็องส์ โครงสร้างอาคารเป็นแบบใช้ผนังรับน้ำหนัก และมีส่วนประกอบโครงสร้างต่างๆเป็นเครื่องไม้เป็นหลัก ก่อสร้างแบบก่ออิฐถือปูน เป็นอาคาร 2 ชั้น ยกเว้นอาคารทางด้านปีกซ้ายและปีกขวาเป็นอาคาร 3 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยามุงกระเบื้องดินเผาสีแดง พื้นและบันไดสร้างด้วยไม้ มีบันไดทางขึ้นและประตูทางเข้าด้านหน้า 3 ทาง ประตูด้านหลัง 2 ทาง ตัวอาคารภายนอกทาสีเหลือง ภายในอาคารและเพดานทาสีขาว มีห้องทั้งหมดจำนวน 17 ห้อง การประดับตกแต่งของอาคารพบที่ประตูหน้าต่างแบบสี่เหลี่ยมและแบบซุ้มโค้งก่อด้วยอิฐเรียงกันเป็นรูปโค้งด้านหน้าอาคาร บริเวณห้องโถงกลางอาคารมีบันไดไม้ประดับราวลูกกรงไม้สร้างแยกเป็นทางเดินขึ้นไปบนชั้น 2 ซ้าย-ขวา และมีบันไดไม้ประกับราวลูกกรงไม้สร้างแยกขึ้นไปอีกชั้นทางด้านปีกซ้ายและปีกขวาอีกแต่มีขนาดเล็กกว่า
อาคารหลังนี้มีเอกลักษณ์โดดเด่นคือ การผสมผสานรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยและตะวันตกแบบเรอแนซ็องส์ให้เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่น โดยเฉพาะตัวอาคารมีความสมมาตรได้สัดส่วน เสาประดับตกแต่งด้วยรูปทรงเรขาคณิต ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมประดับกระจกใส และใช้มุขเป็นช่องหน้าต่างประดับบนหลังคาด้านหน้าและด้านหลังจำนวน 6 หลัง
อาคารหลังนี้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประจำปี 2540จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เรื่องกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2522 กำหนดเขตพื้นที่โบราณสถาน 6 ไร่ 92 ตารางวา กรมศิลปากรได้บูรณะครั้งหลังสุดเมื่อปีพ.ศ.2550