ประวัติวัดนรวราราม เอกสารกล่าวว่าสร้างในปี พ.ศ.๒๔๕๕ เดิมชื่อวัดศรีสะเกษ ภายในวัดมีโบราณสำคัญ คือ สิมที่ยังไม่ทราบอายุการสร้างที่แน่ชัด เดิมเป็นสิมไม้ขนาดเล็กหลังคาทรงจั่วฝาผนังมัดหวาย ต่อมาใน พ.ศ.๒๔๖๘-๒๔๗๑ สมัยพระสมณาเป็นเจ้าอาวาส ได้รื้อสิมหลังเดิมพร้อมสร้างสิมหลังปัจจุบัน ช่างใหญ่เป็นชาวญวนชื่อแกวพุด ช่างแกะสลักไม้เป็นชาวผู้ไทบ้านหนองโอชื่อเถิง

          สิมมีลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นทรงพื้นถิ่นอีสานที่ได้รับอิทธิพลศิลปะญวน ตามลักษณะการลดระดับมุขด้านหน้า การทำบันไดด้านหน้าให้ผายออก รวมถึงการตกแต่งด้วยกรอบเส้นคิ้ววงโค้งเหนือทางเข้า และการเจาะช่องวงรีในแนวตั้งของผนังมุขหน้า เช่นเดียวกับสิมวัดจอมทองธรรมคุณ จังหวัดบึงกาฬ และสิมวัดยอดลำธาร จังหวัดสกลนคร ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างก่ออิฐฉาบปูนขาวหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ขนาด ๓ ห้องรวมมุขหน้าที่ลดระดับ หน้ามุขเป็นบันไดทางขึ้นที่ผายออกประดับราวบันไดด้วยนาคปูนปั้น ผนังมุขก่อเป็นวงโค้ง ด้านหน้ามี ๓ วงโค้ง ด้านข้างด้านละ ๑ วงโค้ง ด้านล่างของวงโค้งเป็นผนังเตี้ยๆตกแต่งด้วยช่องวงรีตามแนวตั้ง เหนือวงโค้งประดับเส้นคิ้วล้อกันไปตกแต่งด้วยกระจกสี่เหลี่ยม บานประตูทำด้วยไม้แกะสลักลายพันธุ์พฤกษา เหนือประตูเป็นซุ้มโค้งตกแต่งด้วยจิตรกรรมรูปดอกบัวและดอกไม้ ประดับด้วยกระจกเงาวงกลมเล็กๆ มีหน้าต่างเฉพาะห้องกลางด้านละ ๑ บาน โครงสร้างอาคารใช้เสาและผนังรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาแบบจั่ว ยกหลังคาจั่วขนาดเล็กในตอนกลางซ้อนกัน  ๒ ชั้นมุงแป้นเกล็ด แผงคอสองที่ปิดช่องว่างระหว่างชั้นหลังคาตกแต่งด้วยไม้แกะสลักทาสีสดใสรูปพญานาค ดอกไม้ และบุรุษ ตรงกลางดอกไม้ประดับกระจกเงารูปวงกลม สันหลังคาประดับช่อฟ้าไม้แกะสลัก หน้าจั่วประดับโหง่ ใบระกาแกะสลักเป็นนาคเกี่ยวหางทอดลำตัวขึ้นด้านบน หางหงส์เป็นรูปหัวนาค หน้าบันเป็นครุฑในซุ้มโค้งรับบัวหัวเสา สองข้างเป็นภาพจิตรกรรมรูปต้นโพธิ์ ด้านล่างครุฑแต่งกระจกสี่เหลี่ยมและเขียนตัวอักษร พ.ศ.๒๔๗๑ ซึ่งการประดับครุฑที่หน้าบันแบบนี้ยังพบที่สิมวัดสุพลธาวาส วัดพันธสีมามังคลาราม จังหวัดร้อยเอ็ด และวัดอุดมประชาราษฎร์ จังหวัดกาฬสินธุ์

 

 

           เอกลักษณ์ของสิมวัดนรวราราม คือ การเป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสานในช่วงปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ที่ได้รับอิทธิพลศิลปะญวน และการตกแต่งลวดลายหน้าบันรูปครุฑ ที่ได้สะท้อนโลกทัศน์ในชุมชนโดยผสมผสานงานการตกแต่งตามแบบกรุงเทพมหานครในงานพื้นถิ่นอีสานด้วย

           กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานวัดนรวราราม ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ นื้อที่ประมาณ ๑ ไร่ ๘๕ ตารางวา โดยสิมหลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งหลังสุดในปี พ.ศ.๒๕๕๕ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย