ประวัติพุทธสถานภูปอ จากหลักฐานการสลักหน้าผาหินเป็นภาพพระพุทธรูปปางไสยาสน์แบบนูนสูง พบว่าอยู่ในสมัยวัฒนธรรมทวารวดี โดยอยู่ใต้เพิงผาภูเขาหินทราย ๒ แห่งๆแรกอยู่บริเวณเชิงเขา สูงจากพื้นดินประมาณ ๕ เมตร แห่งที่สองอยู่ตอนบนเขาเหนือขึ้นไปประมาณ ๘๐ เมตร

          พระพุทธไสยาสน์องค์ที่อยู่เชิงเขาตอนล่าง ประมาณว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ตามแบบศิลปะทวารวดีพื้นถิ่นอีสาน มีขนาดกว้าง ๑.๒๗ เมตร ยาว  ๓.๓๐ เมตร ลักษณะประทับนอนตะแคงขวา หันพระเศียรไปทางทิศเหนือพระพักตร์ผินไปทางทิศตะวันตก มีวงพระพักตร์ค่อนข้างเหลี่ยม พระเนตรปิด พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์หนา ขมวดพระเกศาใหญ่ พระรัศมีกลมนูนคล้ายลูกแก้ว พระกรซ้ายวางแนบพระวรกาย พระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวาเหลือมกันเล็กน้อย ครองจีวรห่มดองเรียบ นอกจากนี้ช่างยังได้สลักแผ่นพื้นหินให้เป็นผ้าปูลาดรองพระองค์มีหมอนรองหนุนพระเศียรและพระบาท รอบๆพระวรกายและพระเศียรสลักรูปประภามณฑลที่เส้นกรอบนอกสลักรูปดอกไม้เป็นระยะ และที่ปลายพระบาทมีจารึกอักษร

 

 

          พระพุทธไสยาสน์องค์ที่อยู่ตอนบนเขา ประมาณว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ตามแบบศิลปะทวารวดีที่ได้รับอิทธิพบสุโขทัย ที่เน้นส่วนสัดและมีลักษณะอ่อนช้อยกว่าองค์ที่อยู่ตอนล่าง มีขนาดกว้าง ๑.๕๐ เมตร ยาว ๕.๒๐ เมตร แสดงอิริยาบถนอนตะแคงขวาเช่นกัน หนุนพระเขนยรูปสามเหลี่ยม หันพระเศียรไปทางทิศเหนือและผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก พระกรซ้ายวางพาดแนบไปบนพระวรกาย พักตร์รูปไข่ พระขนงเป็นเส้นโค้งคม ยาวรับกับพระเนตร พระนาสิกโด่ง พระโอษฐ์แย้ม พระกรรณยาว เม็ดพระศกเป็นแบบก้นหอยขนาดใหญ่ พระรัศมีแบบเปลวสั้นสลักเป็นเส้นบางๆ ครองจีวรห่มดองสลักร่องเป็นแนวสังฆาฏิพาดทับไปบนพระปฤษฏงค์ด้านซ้าย ปลายสังฆาฏิทำหยักเป็นริ้ว พระบาทซ้ายเกยพระบาทขวาแบบไม่ซ้อนกันแนบสนิท อยู่บนแท่นบรรทม

          เอกลักษณ์พระพุทธรูปสลักหินบนภูปอ คือ การแสดงถึงวัฒนธรรมการสร้างรูปสลักหินในสมัยทวารวดีแบบพื้นถิ่นอีสาน ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๙ ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย