วัดประสิทธิ์ไชยาราม ตำบลลำปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตามจารึกหินทรายรูปใบเสมา ด้านทิศตะวันตกของสิม ระบุว่า วัดสร้าง พ.ศ.๒๓๘๘ โดยเมืองแสงและบุตร ยาคู (พระ) พุฒทา ชามณี และตาแสง ภายในวัดประกอบด้วยโบราณสถานสำคัญ คือ สิมที่มีลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสาน สร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก บนฐานบัวสูงด้วยวัสดุก่ออิฐถือปูนในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีขนาด ๓ ห้อง ตอนกลางด้านหน้ามีบันไดทางขึ้น ด้านหน้าและด้านข้างก่อผนังเตี้ยๆ ส่วนผนังด้านหลังก่อเต็มพื้นที่ โดยการซ้อนอิฐเหลื่อมกันจากด้านนอกเข้าสู่ด้านใน ให้สูงขึ้นไปที่ละก้อนคล้ายขั้นบันได และสูงสุดในตอนกลางผนัง ระหว่างผนังด้านหลังและด้านข้าง ก่ออิฐเป็นขั้นบันไดลดหลั่นลงมาเพื่อเชื่อมผนังทั้งสองด้านเข้าด้วยกัน ผนังก่อโอบเสาไม้กลมที่ใช้รับน้ำหนักหลังคาจั่ว ต่อหลังคาปีกนกโดยรอบ ใช้เสาด้านนอกรับน้ำหนักโครงสร้างหลังคาปีกนก ก่อนบูรณะหลังคามุงสังกะสี เมื่อบูรณะจึงเปลี่ยนเป็นแป้นเกล็ดแบบดั้งเดิม หน้าบันตีไม้รูปแสงตาเวน(ตะวัน) บริเวณมุมและตอนกลางด้านนอกสิมฝังใบเสมาหินซ้อนกัน ๓ ใบ มีลักษณะเช่นเดียวกับสิมวัดโพธิ์ชัยบ้านโพน วัดโพธิ์พิพัฒนาราม จังหวัดกาฬสินธุ์ วัดบ้านคูซอล วัดบ้านสะเดา วัดบ้านส้มป่อยน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น          

 

          ภายในสิมประดิษฐานพระพุทธรูปไม้โบราณปางมารวิชัย จำนวน ๓ องค์ ฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน เฉพาะองค์กลางทาสีดำ พระเศียรเล็กเมื่อเทียบกับพระวรกาย พระพักตร์กลม พระกรรณใหญ่ พระเนตรเปิด ห่มจีวรแบบห่มดอง สังฆาฏิเป็นแผ่นแบนใหญ่ยาวจรดพระนาภี ด้านขวาของพระประธาน มีตู้พระไตรปิฎกเป็นตู้ไม้สี่เหลี่ยมผืนผ้าขาสูง เขียนภาพจิตรกรรมเรื่องทศชาติชาดกฝีมือช่างพื้นถิ่นอีสาน ใช้สีเหลืองตัดเส้นด้วยสีขาวบนพื้นสีฟ้า

          เอกลักษณ์ของสิมวัดประสิทธิ์ไชยาราม คือ การเป็นสิมทรงพื้นถิ่นอีสานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๔ แสดงให้เห็นพัฒนาการรุ่นแรกๆของสิมพื้นถิ่นอีสาน อีกทั้งมีความโดดเด่นด้วยเทคนิคการก่อสร้างและการตกแต่งที่อย่างเรียบง่ายเน้นการใช้สอย ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย